วันอังคารที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เขาช่องกระจก/ Khao Chong Krachok or Mirror Mount


เขาช่องกระจก
เป็นภูเขาขนาดย่อมสูง 245 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ตั้งอยู่ริมอ่าวประจวบฯ ในบริเวณ วัดธรรมิการามวรวิหาร ยอดเขามีช่องทะลุโปร่งคล้ายกรอบกระจก ทางขึ้นเป็นบันไดคอนกรีต จำนวน 396 ขั้น ในปี 2497 พระเทพสุทธิโมลี(หลวงพ่อปิ่น) อดีตเจ้าอาวาสวัดธรรมิการามวรวิหาร ได้รับมอบเขาช่องกระจกจากจังหวัดให้อยู่ในความดูและรักษาของวัด
บนยอดเขาประดิษฐานรอยพระพุทธบาท จำลองและพระเจดีย์ ภายในมีพระสถูปบรรจุ พระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานและเสด็จพระราชดำเนินขึ้น บันไดไปยังพระเจดีย์บนยอดเขา ทรงประกอบพิธีบรรจุ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2501 พร้อมทั้ง ทรงปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ ไว้ ณ บริเวณนั้น จากลานยอดเขานี้เอง เห็นทิวทัศน์เขาตะนาวศรี อ่าวประจวบฯ เขาตาม่องล่าย เขาล้อมหมวก และตัวเมืองประจวบฯ ได้โดยรอบ
จากยอดเขาลงไปทางทิศตะวันออก มีถ้ำลิง ถ้ำค้างคาว เชิงเขาเบื้องล่างด้านทะเลมี
"ถ้ำพระ" และด้านทิศใต้มีถ้ำใหญ่ เรียกว่า "ถ้ำสุขสันต์-เจริญธรรม"

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ
ทรงมีพระราชศรัทธาพระราชทานพระบรมสารีริกธาติ ตามที่เจ้าอาวาสวัดธรรมิการามทูลขอ พร้อมทั้งทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินทรงบรรจุในพระสถูปเจดีย์ บนยอดเขาช่องกระจก เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2500 โปรดเกล้าให้ตอบรับแล้ว ณ วันที่ 3 มกราคม 2501 ครั้นถึงวันที่ 11 มิถุนายน 2501 โปรดเกล้าให้อัญเชิญพระบรม สารีริกธาตุพร้อมกับพระเจดีย์อันล้ำค่าที่ทรงสร้างขึ้นจากกรุงเทพฯ มาพักไว้ ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน รุ่งขึ้นวันที่ 12 มิถุนายน 2501 ล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินถึงพิธีมณฑล เวลา 7.30 น. พระราชทานพระบรมสารีริกธาตุ แก่เจ้าอาวาส แล้วเสด็จพระราชดำเนินขึ้นบันไดไปยัง พระเจดีย์ยนยอดเขา และทรงประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุบนบุษบกในประเจดีย์ ต่อจากนั้น ทรง ปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ฐานพระโพธิ์บนยอดเขานี้ สัมฤทธิ์พระราชพิธีตามวันเวลาเป็นอุดมมงคล เป็นเหตุให้มหาชนได้โดยเสด็จพระราชกุศลอย่างซาบซึ้งตรึงใจน่ามหัศจรรย์ อันนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ชาวประจวบคีรีขันธ์
เป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อมฯ


ต้นพระศรีมหาโพธิ์บนยอดเขานี้ เป็นหน่อของต้นพระศรีมหาโพธิ์พฤกษ์ต้นเดิม จากพุทธคยาโดยแท้ เป็นของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ สกลมหาสังฆปริณายก วัดบวรนิเวศวิหาร พระนคร พุทธบริษัทผู้หนึ่ง มีศรัทธาอัญเชิญมาถวายพระองค์ท่าน พระองท่านได้โปรดประทานแก่เจ้า อาวาสวัดธรรมิการามวรวิหาร ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2501 จากนั้นเจ้าอาวาสทูลขอพระมหากรุณา ให้ทรงปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินบรรจุพระบรมสารีรึกธาตุ บนยอดเขาช่องกระจก เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2501 ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงรับ จะปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ ภายหลังพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2501 แล้ว ล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินถึงพิธีมงคล เมื่อ วันที่ 12 มิถุนายน 2501 เวลา 7.30 น. เมื่อเสร็จพิธีที่ศาลากลางแล้ว เสด็จ พระราชดำเนินขึ้นสู่ยอดเขา หลังจากพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ทรงปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่ฐานพระโพธิ์บนยอดเขานี้สัมฤทธิ์ในพระราชพิธีเดียวกัน อันเป็นอนุสรณ์แห่งสันติสุขเป็น ปัจจัยให้มหาชนโดยเสด็จพระราชกุศล อย่างมหัศจรรย์ ซึ่งนับว่าเป็นมหากรุณา ธิคุณ แก่ชาวประจวบคีรีขันธ์
เป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อมฯ

พระราชกรณียกิจชองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช


พระราชกรณียกิจชองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยสังเขป
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นสืบราชสันตติวงศ์ต่อจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๙ แห่งบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เป็นเวลา ๖๐ ปีที่พระองค์ทรงดำรงฐานะเป็นพระประมุขของชาติ เป็นระยะเวลาการครองราชย์ที่ยาวนานกว่ามหาราชาองค์ใดในโลกและบูรพกษัตริย์องค์ใดในแดนสยาม และเป็นเวลา ๖๐ ปีนี้เอง ที่พระองค์ทรงทุ่มเทพระวรกาย พระสติปัญญาความสามารถ และพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอยู่เป็นนิจนานัปการ ด้วยหวังให้มหาชนชาวสยามถึงพร้อมด้วยประโยชน์สุข ซึ่งเป็นสิ่งที่พระองค์ทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้ตั้งแต่สมัยเมื่อเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ดังพระปฐมบรมราชโองการที่ได้พระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทยเมื่อครั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชนชาวสยาม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดพระองค์หนึ่งของโลก พระราชกรณียกิจของพระองค์มีมากมาย ทั้งในด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านการศึกษา ด้านศาสนา ด้านความมั่นคงภายในประเทศ ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ด้านศิลปะวัฒนธรรม และด้านการกีฬา
แต่พระราชกรณียกิจหลักของพระองค์คือ การยกระดับสภาพความเป็นอยู่ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยพระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินไปยังท้องที่ต่างๆ พร้อมทอดพระเนตรสภาพปัญหาในท้องที่เหล่านั้นด้วยพระองค์เอง พระองค์จะใช้เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละปี เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระตำหนักตามภูมิภาคต่างๆ และจะทรงหาโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่ใกล้เคียงอยู่เสมอ จนอาจกล่าวได้ว่า ไม่มีพื้นที่แห่งใดในประเทศไทย ที่พระองค์ไม่เคยเสด็จพระราชดำเนินไปถึง ตลอด ๖๐ ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่พระองค์ทรงงานอย่างไม่เคยว่างเว้น และทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่ถึงพร้อมทั้งความบริสุทธิ์บริบูรณ์ จึงเป็นช่วงเวลา ๖๐ ปีที่พสกนิกรชาวไทยอยู่ได้อย่างร่มเย็นเป็นสุขภายใต้ร่มพระบารมี พระราชกรณียกิจทั้งหลายที่พระองค์ทรงบำเพ็ญ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้ที่พระองค์ทรงมีต่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทย
การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรทั่วประเทศ
พระองค์เสด็จเยี่ยมราษฎรในทุกท้องถิ่น ทุกจังหวัด ทุกภาคของประเทศ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรภาคกลางเป็นภาคแรก และเสด็จเยี่ยมภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นเวลานาน ถึง ๑๙ วัน ประชาชนในท้องถิ่นจังหวัดต่างๆ เฝ้ารอรับเสด็จด้วยความปิติยินดี บางคนรับเสด็จที่จังหวัดหนึ่งแล้วตามไปเฝ้ารอรับเสด็จอีกจังหวัด
ใน ปี ๒๕๐๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรภาคเหนือครบทุกจังหวัด และเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในภาคใต้ ในปีต่อมา พ.ศ. ๒๕๐๒ การเสด็จเยี่ยมราษฎรทุกภาคของประเทศ ได้ทอดพระเนตรชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะท้องถิ่นทุรกันดาร ทรงสอบถามข้อมูล รับทราบความทุกข์ยากของราษฎรอย่างใกล้ชิด ทำให้พระองค์ได้ทรงทราบปัญหาของราษฎรด้วยพระองค์เอง ภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จในท้องถิ่นต่างๆ ในพระหัตถ์มีแผนที่ หรือเอกสารข้อมูลและดินสอดำ ที่พระศอมีกล้องถ่ายภาพคล้องอยู่ จึงเป็นภาพที่ชินตาพสกนิกรไทย ตลอด ๖๐ ปีที่ผ่านมา


การเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรมที่พระตำหนักตามภูมิภาคต่างๆ พระราชประสงค์ที่สำคัญ คือ เยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดาร แทบจะไม่มีพื้นที่ใดในประเทศไทยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงรู้จัก การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงรับรู้ทุกข์สุขของราษฎรทำให้มีพระราโชบายว่า “การที่จะแจกสิ่งของหรือเงินแก่ราษฎรนั้นเป็นการช่วยเหลือชั่วคราว ไม่ยั่งยืน การที่จะช่วยประชาชนอยู่รอดได้ก็คือการให้อาชีพ”

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
โครงการช่วยเหลือราษฎรของพระองค์ก่อนที่จะพระราชทานไปนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงศึกษาทดลองจนรู้จริง จากสภาพแวดล้อม ภูมิประเทศ จากความเห็นของราษฎร และ นักวิชาการในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียหาย และติดตามผลด้วยพระองค์เอง
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า ๓,๐๐๐ โครงการ ได้บูรณาการให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรทั่วทุกภาค เช่น โครงการด้านเกษตรกรรม การสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม การชลประทาน การประมงการสหกรณ์ ฯลฯ
ตัวอย่างโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เกิดประโยชน์ต่อชุมชนชนบท เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้เพื่อการพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่น ทรงมีพระราชดำริจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๖ แห่ง ทั่วประเทศ ที่จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดสกลนคร จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดนราธิวาส เพื่อเป็นตัวอย่างกับเกษตรกรและประชาชนครอบคลุมทุกภูมิภาค
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ เพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวไทยทุกเชื้อชาติ ศาสนา ทั่วทุกภาคของประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของราษฎรอย่างแท้จริง พระองค์ได้พระราชทานแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นแก่นแท้ของการ พัฒนาที่ยั่งยืน

วันพ่อแห่งชาติ (5 ธันวาคม)

วันพ่อแห่งชาติ
5 ธันวาคม ของทุกปี


ความเป็นมาของวันพ่อแห่งชาติ
วันพ่อแห่งชาติ ได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2523 โดยคุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษาเป็นผู้ริเริ่ม
หลักการและเหตุผลในการจัดตั้งวันพ่อแห่งชาติ
โดยที่พ่อเป็นผู้มีพระคุณมีบทบาทสำคัญต่อครอบครัวและ สังคม สมควรที่ผู้เป็นลูกจะเคารพเทิดทูนตอบแทนพระคุณด้วยความกตัญญู และสมควรที่สังคมจะยกย่องให้เกียรติรำลึกถึงผู้เป็นพ่อ จึงถือเอาวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาเป็น “วันพ่อแห่งชาติ” ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างนานัปการ ทรงเป็นพระราชบิดาของพระราชโอรสและพระราชธิดาทรงรักใคร่และห่วงใยตั้งแต่พระเยาว์จนถึงปัจจุบันรวมทั้งพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาทินัดดามาตุ เรืออากาศเอกวีรยุทธ ดิษยศริน พระสวามีในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์วลัยลักษณ์และพระเจ้าหลาน เธอทุกพระองค์ ต่างซาบซึ้งและปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณอย่างมิรู้ลืม พระองค์ทรงเป็น “พ่อ” ตัวอย่างของปวงชนชาวไทยที่เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตากรุณา ทรวงห่วงใยอย่างหาที่เปรียบมิได้ ดังบทร้อยกรองเทิดพระเกียรติว่า

“อันราชาเลี้ยงรักษาซึ่งทวยราษฎร์ ประดุจเป็นปิตุราชอยู่ทุกเมื่อ
ควรที่บุตรสุดรักจักจุนเจือ พระคุณนั้นให้อะเคื้อด้วยภักดี
และอีกบทหนึ่งเทิดพระเกียรติว่า
“ทุกบุปผามาลัยคือใจราษฎร์ ภักดีบาทองค์บพิตรเป็นนิจสิน
พระคือบิดาข้าแผ่นดิน ร่วมร้อยรินมาลัยถวายพระพร
ลุ 5 ธันวามหาราช “วันพ่อแห่งชาติ” คือองค์อดิเรก
พระเปี่ยมล้นด้วยเมตตาเอื้ออาทร พสกนิกรเป็นสุขทุกคืนวัน”

ซึ่งนอกจากพระองค์จะเป็นพระราชบิดาของพระราชโอรสและพระราชธิดา ทรงทะนุบำรุงพระราชโอรสธิดาด้วยความรัก และทรงอบรมอนุศาสน์ให้ทรงเจริญวัยสมบูรณ์ และทรงบำเพ็ญคุณานุประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทแล้ว พระองค์ยังทรงพระมหากรุณาทะนุบำรุงจัดทุกข์ผดุงสุขพสกนิกรถ้วนหน้า พระองค์ทรงเป็น “พ่อแห่งชาติ” ที่อาณาประชาราษฎร์เทิดทูนด้วยความจงรักภักดี สำนักในพระมหากรุณาธิคุณ และยึดมั่นในการเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทในการทะนุบำรุงชาติบ้านเมืองให้วัฒนาถาวรสืบไป

ดอกพุทธรักษา สัญลักษณ์วันพ่อแห่งชาติ


คณะกรรมการจัดงานวันพ่อแห่งชาติได้กำหนดให้ดอกพุทธรักษาดอกไม้ที่มีนามเป็นมงคลนี้เป็นสัญลักษณ์
วัตถุประสงค์ของการจัดวันพ่อแห่งชาติ
1. เพื่อเทิดทูนพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
2. เพื่อเทิดทูนพระคุณของพ่อ และยกย่องบทบาทของพ่อที่มีต่อครอบครัวและสังคม
3. เพื่อให้ลูกได้แสดงความกตัญญูต่อพ่อ
4. เพื่อให้ผู้เป็นพ่อได้สำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบของตน
กิจกรรมที่ควรปฎิบัติในวันพ่อแห่งชาติ
1. ประดับธงชาติที่อาคารบ้านเรือน
2. จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการบำเพ็ญประโยชน์หรือทำบุญใส่บาตร เพื่ออุทิศส่วนกุศลและระลึกถึงพระคุณพ่อ
3. จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการส่งเสริมยกย่องผู้ที่ สมควร ได้รับการยกย่องว่าเป็นพ่อ ตัวอย่าง
สำหรับคุณสมบัติของพ่อตัวอย่าง คณะกรรมการได้กำหนดไว้ดังนี้
1. มีอายุตั้งแต่ 40 ปี ขึ้นไป
2. ส่งเสริมการศึกษาแกบุตรและธิดา
3. นับถือศาสนาโดยเคร่งครัด
4. งดเว้นอบายมุขทุกชนิด
5. อุทิศตนเพื่อประโยชน์ต่อประชาชน
6. มีภรรยาเพียงคนเดียว

หน้าที่ของบิดา มารดาพึงมีต่อบุตร
ห้ามมิให้ทำความชั่ว - ป้องกัน, ห้ามปราม มิให้ประพฤติเสียหาย
ให้ตั้งอยู่ในความดี - ปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรม วัฒนธรรมประเพณี และกฎหมายบ้านเมือง
ให้ศึกษาศิลปวิทยา - ส่งเสริมให้ได้รับการศึกษาทั้งคดีโลก และคดีธรรม
หาคู่ครองที่สมควรให้ - เลือกคู่ครองที่คู่ควร, เหมาะสมให้ในเวลาอันเหมาะสม
มอบทรัพย์สมบัติให้ดูแลเมื่อถึงเวลาอันสมควร - มอบภาระหน้าที่การงานให้บริหาร และมอบมรดกให้ครอบครอง
หน้าที่ของบุตรพึงมีต่อบิดามารดา
เลี้ยงดูบิดามารดาเป็นการตอบแทน - เลี้ยงดูพ่อแม่ยามแก่เฒ่าอย่าปล่อยให้ท่านอดรันทดใจในวัยชรา
ช่วยทำกิจการงานของท่าน - ไม่นิ่งดูดายเป็นคนไร้น้ำใจเข้าไปช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่
ดำรงวงศ์ตระกูล - ไม่ทำตระกูลให้เสื่อมและเสียหาย
ประพฤติตนให้สมควรได้รับทรัพย์มรดก - ประพฤติตนให้ท่านไว้ใจและวางใจ ที่จะครอบครองสมบัติ
ท่านเจ็บป่วยต้องรักษา ท่านมรณาต้องทำศพให้ - ทำความปรารถนาของพ่อแม่มิให้พังทลาย
วันที่ 5 ธันวาคม นอกจากจะเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และเป็นวันพ่อแห่งชาติแล้ว ยังถือว่าว่าวันนี้ เป็น “วันชาติของไทย” อีกด้วย

น้ำตกเอราวัณ

น้ำตกเอราวัณ เป็นน้ำตกที่ใหญ่และสวยงาม บนฝั่งแม่น้ำแควใหญ่ ตั้งอยู่ที่ อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นน้ำตกที่มีระยะทางยาวประมาณ 1,500 เมตร ติดต่อกัน ซึ่งแบ่งออกเป็นชั้นๆ ได้ 7 ชั้นเป็นน้ำตกขนาดใหญ่เดิม มีชื่อว่า น้ำตกสะด่องม่องลาย ตามชื่อลำห้วยม่องล่ายซึ่งเป็นต้นน้ำของน้ำตกที่เกิดจากยอดเขา ตาม่องล่ายใน เทือกเขาสลอบ สายน้ำจะไหลมาตามชั้นหินเป็นระยะทางประมาณ 1,500 เมตร แบ่งออกเป็นชั้นใหญ่ๆได้ 7 ชั้น แต่ละชั้นมีีความสวยงามร่มรื่นไปด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ ทั้งเถาวัลย์พันเกี่ยวทอดตัวไปบนต้นไม้ใหญ่ กล้วยไม้ป่า หลายชนิดบนคาคาคบไม้ สายธารน้ำที่ไหลตกลดหลั่นลงมาบนโขดหินสู่แอ่งน้ำเบื้องล่าง เสียงสาดซ่า คลอเคล้า ด้วยเสียงเพรียกของนกป่า ทำให้สภาพความเป็นธรรมชาติสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น นับเป็นบรรยากาศที่เรียกเอาความมี คุณค่าของป่าเขาลำเนา ไพรซึมซับเข้าสู่อารมณ์ของผู้ใฝ่ความสันโดษ และรักธรรมชาติโดยแท้จริง ในชั้นที่ 7 อันเป็นชั้นบนสุดของน้ำตกลักษณะของน้ำตกชั้นที่ 7 ลักษณะสายน้ำไหลบ่า มองดูคล้ายกับหัวช้างเอราวัณซึ่งมี 3 หัว จึงกลายมาเป็นที่มาของชื่อน้ำตก จนคนทั่วไปรู้จักและขนานนามว่า “น้ำตกเอราวัณ”


สิ่งที่รู้สึกได้เมื่อมาถึงยังบริเวณน้ำตก คือความเย็นสบายแต่เมื่อได้เห็นตัวน้ำตกก็ต้องตะลึงในความงามของตัว น้ำตกที่น้ำใสแจ๋ว มองเห็นตัวปลาแหวกว่ายไปมาใต้ผืนน้ำที่สะท้อนแสงเป็นสีฟ้าอมเขียวมรกตคล้ายน้ำใน สระว่ายน้ำ ที่เป็นเช่นนั้นก็เนื่องมาจากลักษณะของภูเขาใน อุทยานฯเอราวัณ เป็นเป็นเทือกเขาหินปูนที่เกิดจาก การทับถมของ เปลือกหอย ปู หรือปะการังดังนั้นน้ำตกเอราวัณที่ไหลมาจากเทือกเขาหินปูนจึงมีสารละลายของ แคลเซียมคาร์บอเนต เจือปนอยู่ ซึ่งแคลเซียมคาร์บอเนตนี้จะตกตะกอนในบริเวณที่มีน้ำไหลช้าหรือเป็นแอ่งน้ำ ทำให้ชั้นน้ำตกมีคราบหินปูนก่อตัว และหินปูนนี้สามารถละลายน้ำได้ดี เมื่ออยู่ในรูปของสารละลายก็สามารถ ตก ตะกอนได้ น้ำตกหินปูนจึงมีน้ำใสในตอนบน และมีการตกตะกอนขุ่นในช่วงล่างของธารน้ำ เมื่อแสงส่องลงมาจะ ทำให้สะท้อนเป็นสีฟ้าหรือสีเขียวมรกตสวยงามมาก

น้ำตกชั้นแรกมีชื่อว่า"ไหลคืนรัง"ชั้นต่อมาชื่อ"วังมัจฉา" ชั้นที่ 3 "ผาน้ำตก" ชั้นที่4"อกผีเสื้อ" ชั้นที่ 5 "เบื่อไม่ลง" ชั้นที่ 6"ดงพฤกษา" และชั้นสุดท้ายชื่อว่า "ภูผาเอราวัณ"โดยน้ำตกแต่ละชั้นไม่ใช่มีแค่ชื่อที่ไม่เหมือนกันเท่านั้น แต่น้ำตกแต่ละชั้นก็มีความสวยงามที่แตกต่างกันออกไป สำหรับท่านที่ต้องการเยี่ยมชมน้ำตกทั้ง 7 ชั้นจาก การสอบถามจากเจ้าหน้าที่จะต้องใช้เวลาประมาณ 3ชั่วโมงในการขึ้น - ลง


ทางอุทยานฯตั้งชื่อเช่นนี้ คิดว่าอาจจะเป็นเพราะน้ำตกชั้นนี้มีปลาอาศัยอยู่เยอะก็เป็นได้ ซึ่งปลาเหล่านี้คือ "ปลาพลวง" เป็นปลาน้ำจืดในตระกูลปลาตะเพียน ลำตัวสีน้ำตาลเขียว เกล็ดโต มีหนวดยาว 2 คู่ ตรงจงอยปาก และ มุมปาก ชอบอาศัยบริเวณธารน้ำตก ลำห้วย หรือธารน้ำที่ใสสะอาด มีพื้นเป็นกรวดหรือทราย ที่วังมัจฉาสี ของน้ำมี 2 สีอย่างเห็นได้ชัด คือน้ำสีฟ้าเขียวและน้ำใสๆตามปกติ ซึ่งปลาพลวงชอบจะอาศัยอยู่ในน้ำใสมากกว่า นอกจากนี้ที่น้ำตกชั้น 2ยังมีความสวยงามของม่านน้ำตกที่เบื้องหลังสายน้ำตกที่ตกลงมากระเซ็นเป็นฝอยนั้นมี ผาลึกเข้าไปเล็กน้อย โดยนักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปหลังม่านน้ำตกนี้ได้
น้ำตกชั้นที่ 3 ที่มีน้ำตกที่ตกลงมาจากผาชันดังชื่อของน้ำตกชั้นนี้ว่า"ผาน้ำตก" จากนั้นก็เดินข้ามสะพานไม้ถัดขึ้น ไปเป็นน้ำตกชั้นที่ 4 "อกผีเสื้อ" ที่มีชื่อเช่นนี้ก็คงเพราะรูปร่างของหินที่อยู่ในน้ำตกชั้นนี้ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" มองดูคล้ายอกของผู้หญิง หรือถ้าเป็นอกผีเสื้อก็คงเป็นอกผีเสื้อสมุทร ที่มีน้ำตกไหลครอบคลุมหินกลมมน ก้อนใหญ่ 2 ก้อนดูแล้วนิ่มนวลสวยงามมาก
ถัดมาเป็นน้ำตกชั้นที่ 5 ชื่อว่า"เบื่อไม่ลง" ด้วยลักษณะของน้ำที่ไหลตกลงมาตามชั้นหินเตี้ยๆหลายๆชั้นบวกกับน้ำ ที่มีสีฟ้าเขียวทำให้เกิดความสวยงามน่าหลงใหลเป็นอย่างยิ่ง ต่อไปเป็นชั้น "ดงพฤกษา" ซึ่งอุดมไปด้วยแมกไม้ นานา พันธุ์แต่ดูไม่รกทึบส่วนชั้นสุดท้าย "ภูผาเอราวัณ" ที่ได้ชื่อเช่นนี้คงเนื่องมาจากว่าเมื่อน้ำตกไหล บ่าผ่านผา และชั้นหินบน ภูเขามองดูจากระยะไกลคล้ายกับหัวช้างเอราวัณซึ่งมี 3 หัว จึงเป็นที่มาของชื่อน้ำตกชั้นที่ 7 และเป็นชื่อของอุทยาน แห่งชาตินี้ด้วย


นอกจากนี้ทางอุทยานฯได้จัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่ทางอุทยานฯ ได้จัดเส้นทางไว้สำหรับนักท่องเที่ยว ที่ต้องการศึกษาธรรมชาติ 2 เส้นทาง ใช้เวลาประมาณ 30 นาที คือ เส้นทางสายป่าดิบแล้งม่องไล่ - ระยะทาง 1,010 เมตร ลักษณะเป็นทางเดินเลียบลำห้วยม่องไล่ เริ่มจากสะพานค่ายพักไปบรรจบกับเส้นทาง ใน
น้ำตกเอราวัณชั้นที่ 3 เส้นทางเขาหินล้านปี - ระยะทาง 1,940 เมตร เริ่มจากลานจอดรถไปบรรจบกับเส้นทาง สู่น้ำตกบริเวณสะพานของ น้ำตกเอราวัณชั้นที่ 4

รังสีในชีวิตประจำวัน

กัมมันตภาพรังสีเป็นส่วนหนึ่งของโลก และอยู่คู่กับโลกตลอดมา วัตถุที่มีกัมมันตภาพรังสีที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มีอยู่ทั้งที่เปลือกโลก ที่พื้นและที่ผนังของบ้าน โรงเรียน ที่ทำงาน ในอาหารที่เรารับประทาน และในน้ำที่เราดื่ม มีก๊าซกัมมันตรังสีในอากาศที่เราหายใจ ภายในร่างกายของเรา ที่กล้ามเนื้อ กระดูกและเนื้อเยื่อ ล้วนแต่มีธาตุที่มีกัมมันตภาพรังสีตามธรรมชาติประกอบอยู่ด้วย
คนเราได้รับจากธรรมชาติตลอดเวลา ทั้งรังสีที่เกิดจากพื้นโลกและรังสีที่มาจากนอกโลก รังสีที่มาจากนอกโลกที่เราได้รับ เรียกว่า รังสีคอสมิก (cosmic rays)
เราได้รับรังสีที่มนุษย์ผลิตขึ้นเช่นกัน เช่น รังสีเอกซ์ ซึ่งเป็นรังสีที่ใช้ในการวินิจฉัยโรค และใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง ฝุ่นกัมมันตรังสี (fallout) จากการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ รวมทั้งวัสดุกัมมันตรังสีปริมาณเล็กน้อยที่เล็ดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อม จากโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็เป็นต้นกำเนิดรังสีที่คนเราได้รับเช่นกัน
กัมมันตภาพรังสี (radioactivity) เป็นคำที่ใช้เรียกการแตกตัว (disintegration) ของอะตอม คุณสมบัติของอะตอม แสดงด้วยจำนวนโปรตอนในนิวเคลียส ธาตุในธรรมชาติบางชนิดไม่เสถียร ทำให้นิวเคลียสมีการแตกตัว หรือสลายตัว (decay) ซึ่งเป็นการปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปของรังสี ปรากฏการณ์นี้ เรียกว่า กัมมันตภาพรังสี และเรียกนิวเคลียสของอะตอมที่มีกัมมันตภาพรังสีว่า นิวไคลด์ (nuclei) กัมมันตรังสี การสลายตัวของกัมมันตภาพรังสี แสดงด้วยหน่วยที่เรียกว่า เบคเคอเรล (becquerels) หนึ่งเบคเคอเรล เท่ากับการปลดปล่อยรังสีออกมาหนึ่งครั้งต่อวินาที
นิวไคลด์กัมมันตรังสี (radionuclide) มีการสลายตัวด้วยอัตราจำเพาะที่มีค่าคงที่ โดยไม่มีผลกระทบเกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น อุณหภูมิ หรือความดัน ช่วงเวลาที่นิวไคลด์กัมมันตรังสีสลายตัวลดลงเหลือครึ่งหนึ่ง เรียกว่า ครึ่งชีวิต (half-life) ซึ่งจะแตกต่างกันในธาตุที่มีกัมมันตรังสีแต่ละชนิด โดยมีค่าตั้งแต่เศษเสี้ยวของวินาที ไปจนถึงเป็นพันล้านปี ตัวอย่างเช่น ไอโอดีน-131 (I-131) มีครึ่งชีวิต 8 วัน ขณะที่ยูเรเนียม-238 (U-238) ซึ่งปัจจุบัน มีปริมาณเล็กน้อยในโลก มีครึ่งชีวิต 4.5 พันล้านปี โปแตสเซียม-40 (K-40) ซึ่งเป็นแหล่งกัมมันตภาพรังสีหลักในร่างกายเรา มีครึ่งชีวิต 1.42 พันล้านปี



ชนิดของรังสี
คำว่า รังสี (radiation) เป็นคำกว้างๆ โดยรวมถึงแสงและคลื่นวิทยุด้วย แต่ในบทความนี้ จะหมายถึงเฉพาะ รังสีที่ทำให้เกิดการไอออไนซ์ (ionizing) ซึ่งหมายถึงการที่รังสีเคลื่อนที่ผ่านเข้าไปในวัตถุ แล้วทำให้เกิดประจุไฟฟ้าหรือไอออน ในเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิต ไอออนที่เกิดจากรังสี สามารถทำให้เกิดผลกระทบต่อกระบวนการทางชีววิทยาได้

รังสีมีหลายชนิด แต่ละชนิดมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน รังสีที่ทำให้เกิดการไอออไนซ์ โดยทั่วไปจะหมายถึง
รังสีอัลฟา (alpha radiation) ประกอบด้วยอนุภาคมีประจุและมีมวลมาก ปลดปล่อยออกมาจากอะตอมของธาตุหนักบางชนิด เช่น ยูเรเนียม และเรเดียม รังสีอัลฟาสามารถหยุดยั้งได้ด้วยแผ่นกระดาษ หรือเนื้อเยื่อบางๆ ที่ผิวหนังชั้นนอกของเรา แต่ถ้าวัสดุที่ให้รังสีอัลฟาเข้าไปภายในร่างกายของเรา อาจจะโดยการหายใจ การกินหรือการดื่ม สามารถที่จะเกิดปฏิกิริยาโดยตรงกับเนื้อเยื่อภายใน และอาจทำให้เกิดความเสียหายกับเซลล์ได้
รังสีบีต้า (beta radiation) มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับอิเล็กตรอน สามารถผ่านเข้าไปในวัตถุได้มากกว่าอนุภาคอัลฟา และสามารถผ่านตัวกลางที่เป็นน้ำได้ประมาณ 1-2 เซนติเมตร โดยทั่วไปแผ่นอลูมิเนียมความหนาไม่กี่มิลลิเมตรก็สามารถหยุดรังสีบีต้าได้
รังสีแกมมา (gamma rays) เป็นคลื่นแม่เหล้กไฟฟ้าเช่นเดียวกับรังสีเอกซ์ แสง และคลื่นวิทยุ รังสีแกมมาสามารถเคลื่อนที่ผ่านร่างกายคนไปได้ แต่หยุดได้ด้วยผนังคอนกรีตหรือตะกั่วหนาๆ โดยขึ้นกับพลังงานของรังสี
รังสีนิวตรอน (neutrons) เป็นอนุภาคไม่มีประจุ และไม่ทำให้เกิดการไอออไนซ์โดยตรง แต่สามารถทำปฏิกิริยากับอะตอมของวัตถุ แล้วทำให้เกิดรังสีอัลฟา รังสีบีต้า รังสีแกมมา หรือรังสีเอกซ์ ซึ่งทำให้เกิดการไอออไนซ์ได้ รังสีนิวตรอนสามารถผ่านวัตถุได้ดี แต่จะหยุดลงได้ด้วยคอนกรีตหนา น้ำ หรือพาราฟิน (paraffin)
เราไม่สามารถมองเห็นหรือสัมผัสได้กับรังสี แต่สามารถตรวจจับ หรือวัดปริมาณได้ด้วยเครื่องมือวัดรังสี


ปริมาณรังสี (Radiation Dose)
เรารู้สึกร้อนเมื่อได้รับแสงแดด เนื่องจากร่างกายของเราดูดกลืนรังสีอินฟราเรดจากแสงแดด แต่รังสีอินฟราเรดไม่ทำให้เกิดการไอออไนซ์ในเนื้อเยื่อของร่างกาย แต่รังสีที่ทำให้เกิดการไอออไนซ์ สามารถทำให้เซลล์ตาย หรือทำให้เกิดความเสียหายต่อการทำหน้าที่ปกติของเซลล์ ปริมาณรังสีเพียงเล็กน้อย ก็สามารถทำให้เกิดผลกระทบทางชีววิทยาได้ โดยที่เราอาจจะยังไม่รู้สึก ต่างจากรังสีอินฟราเรดที่ทำให้เกิดความร้อน
ผลทางชีววิทยาของรังสีที่ทำให้เกิดการไอออไนซ์จะแตกต่างกัน ขึ้นกับชนิดและพลังงานของรังสี ความเสี่ยงในการทำให้เกิดอันตรายทางชีววิทยา วัดได้ด้วยปริมาณของรังสีที่เนื้อเยื่อได้รับ หน่วยที่ใช้วัดปริมาณรังสีที่ดูดกลืนไว้ เรียกว่า ซีเวอร์ต (sievert : Sv) เนื่องจากปริมาณรังสีหนึ่งซีเวอร์ตเป็นหน่วยใหญ่ โดยทั่วไปจึงพบว่า มีการใช้หน่วยเป็น มิลลิซีเวอร์ต (millisievert : mSv) หรือ ไมโครซีเวอร์ต (microsievert : mSv) ซึ่งมีค่าเป็น หนึ่งในพัน หรือหนึ่งในล้านซีเวอร์ต ตัวอย่างเช่น การเอกซเรย์หน้าอกทำให้ได้รับรังสีประมาณ 0.2 mSv
ปริมาณรังสีโดยเฉลี่ย ที่เราได้รับจากธรรมชาติอยุ่ที่ประมาณ 2.4 mSv ต่อปี ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ได้เป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ ในอาคารบ้านเรือนอาจจะมีธาตุกัมมันตรังสีในอากาศ ได้แก่ เรดอน (radon : Rn-222) ) โทรอน (thoron : Rn-220) และไอโซโทปรังสีอื่นที่เกิดจากการสลายตัวของเรเดียม (radium : Ra-226) และทอเรียม (thorium) ซึ่งมีอยู่ในหิน วัสดุก่อสร้าง และในดิน แหล่งกำเนิดรังสีใหญ่ที่สุดในธรรมชาติ มาจากธาตุยูเรเนียมและทอเรียม ซึ่งมีอยู่ในดินทุกแห่งทั่วโลก
ปริมาณรังสีคอสมิกที่คนเราได้รับ ส่วนใหญ่จะขึ้นกับพื้นที่หรือระดับความสูง (altitude) และต่างกันเล็กน้อยตามแนวเส้นรุ้ง (latitude) คนที่เดินทางด้วยเครื่องบิน จึงมีโอกาสที่จะได้รับรังสีคอสมิกมากขึ้น

การป้องกันรังสี (Radiation Protection) เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่า การได้รับรังสีที่ทำให้เกิดการไอออไนซ์ในปริมาณสูง สามารถทำให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อของคนเรา เป็นเวลาหลายปี ที่นักวิทยาศาสตร์ได้ให้ความสนใจมากขึ้น เกี่ยวกับผลกระทบเมื่อได้รับรังสีปริมาณสูง ได้มีการจัดตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญหลายคณะในทันที เพื่อพิจารณาการควบคุมการได้รับรังสี ในปี 1928 ได้มีการจัดตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญอิสระ ในรูปขององค์กรเอกชน (non-governmental body) ชื่อ the International X-ray and Radium Protection Committee ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น the International Commission on Radiological Protection (ICRP) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการกำหนดหลักการพื้นฐาน และจัดทำข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับการป้องกันรังสี

หลักการและข้อเสนอเหล่านี้ที่จัดทำขึ้น ได้ใช้เป็นพื้นฐานสำหรับการออกระเบียบของรัฐในการควบคุม การได้รับรังสีของเจ้าหน้าที่ด้านรังสีและประชาชนทั่วไป มีความร่วมมือระหว่างประเทศโดยทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency : IAEA) ในการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยในการป้องกันรังสี (Basic Safety Standards for Radiation Protection) โดยจัดพิมพ์ร่วมกับองค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO), International Labour Organization (ILO), และ the OECD Nuclear Energy Agency (NEA) มาตรฐานเหล่านี้ได้นำไปใช้ทั่วโลก เพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัยและการป้องกันรังสี ต่อเจ้าหน้าที่ด้านรังสีและประชาชนทั่วไป
ในปี 1955 สหประชาชาติได้มีการจัดตั้ง the UN Scientific Committee on the Effects of Atomic Radiation (UNSCEAR) เป็นหน่วยงานระหว่างรัฐบาล (intergovernmental) ทำหน้าที่รวบรวม ศึกษาและเผยแพร่ข้อมูล เกี่ยวกับระดับของรังสีที่ทำให้เกิดการไอออไนซ์ และกัมมันตภาพรังสีในสิ่งแวดล้อม ทั้งรังสีที่มีอยู่ตามธรรมชาติและที่มนุษญ์ผลิตขึ้น รวมทั้งผลของรังสีต่อผู้คนและต่อสิ่งแวดล้อม
การป้องกันรังสีนั้นใช้หลักการเดียวกันทั่วโลก โดย ICRP ได้กำหนดให้การได้รับรังสีที่สูงกว่าระดับของรังสีในธรรมชาติ จะต้องรักษาให้อยู่ในระดับต่ำที่สุดเท่าที่ทำได้ (as low as reasonably achievable) และต่ำกว่าขีดจำกัดของปริมาณรังสีที่แต่ละคนจะรับได้ (individual dose limits) ซึ่งขีดจำกัดปริมาณรังสีที่จะรับได้ของเจ้าหน้าที่ด้านรังสีเฉลี่ยอยู่ที่ไม่เกิน 100 mSv ในรอบ 5 ปี ส่วนประชาชนทั่วไปไม่เกิน 5 mSv ต่อปี ขีดจำกัดของปริมาณรังสีที่รับได้นี้ มีการกำหนดขึ้นอย่างรอบคอบ โดยคิดว่าไม่มีปริมาณรังสีขีดเริ่ม (threshold dose) ที่ต่ำกว่านี้ที่จะทำให้เกิดผลกระทบจากรังสี หมายความว่า การได้รับรังสีที่สูงกว่านี้ จะทำให้เกิดผลต่อสุขภาพเพิ่มขึ้นในสัดส่วนเดียวกัน ส่วนความสัมพันธ์นี้ สำหรับการได้รับรังสีระดับต่ำ ยังไม่มีการกำหนดมีหลายแห่งทั่วโลกที่มีระดับของรังสีในธรรมชาติสูง ทำให้ประชาชนทั่วไปในบริเวณนั้นได้รับรังสีในแต่ละปี (annual radiation dose) สูงกว่าขีดจำกัดการได้รับรังสีที่ ICRP กำหนดไว้สำหรับเจ้าหน้าที่ด้านรังสีหลายเท่า แต่จำนวนผู้คนที่ได้รับรังสีนั้น มีจำนวนน้อยเกินกว่าจะนำมาประเมินผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดขึ้นได้ แต่การที่ผลยังไม่เด่นชัด ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
ICRP และ IAEA ได้กำหนดให้ปริมาณรังสีที่แต่ละคนได้รับ จะต้องอยู่ในระดับต่ำสุดเท่าที่จะทำได้ และจะต้องนำปริมาณรังสีที่คนกลุ่มเดียวกันนี้จะได้รับ จากต้นกำเนิดรังสีอื่นที่อาจจะได้รับในเวลาเดียวกัน มาพิจารณาร่วมกันด้วย โดยปริมาณรังสีทั้งหมดที่แต่ละคนได้รับจะต้องไม่เกินขีดจำกัดปริมาณรังสีที่กำหนด
โดยทั่วไป ปริมาณรังสีเฉลี่ยต่อปี ที่เจ้าหน้าที่ด้านรังสีได้รับจะต่ำกว่าขีดจำกัดที่กำหนด การปฏิบัติงานโดยการป้องกันรังสีที่ดี (good radiation protection practice) จะมีผลทำให้เจ้าหน้าที่ด้านรังสีได้รับรังสีต่ำ

วันปีใหม่


ประวัติความเป็นมา วันปีใหม่
ความหมายของ วันขึ้นปีใหม่
ความหมายของวันขึ้นปีใหม่ ตามพจนานุกรม ฉบับราชตบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของคำว่า " ปี" ไว้ดังนี้ ปี หมายถึง เวลา ชั่วโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่งราว 365 วัน : เวลา 12 เดือนตามสุริยคติ

ประวัติความเป็นมา
วันปีใหม่ มีประวัติความเป็นมาซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและความเหมาะสม ตั้งแต่ในสมัยเริ่มแรกเมื่อชาวบาบิโลเนียเริ่มคิดค้นการใช้ปฏิทิน โดยอาศัยระยะต่าง ๆ ของดวงจันทร์เป็นหลักในการนับ เมื่อครบ 12 เดือนก็กำหนดว่าเป็น 1 ปี และเพื่อให้เกิดความพอดีระหว่างการนับปีตามปฏิทินกับปีตามฤดูกาล จึงได้เพิ่มเดือนเข้าไปอีก 1 เดือน เป็น 13 เดือนในทุก 4 ปี ต่อมาชาวอียิปต์ กรีก และชาวเซมิติค ได้นำปฏิทินของชาวบาบิโลเนียมาดัดแปลงแก้ไข อีกหลายคราวเพื่อให้ตรงกับฤดูกาลมากยิ่งขึ้นจนถึงสมัยของกษัตริย์จูเลียต ซีซาร์ ได้นำความคิดของนักดาราศาสตร์ชาวอียิปต์ชื่อ โยซิเยนิส มาปรับปรุง ให้ปีหนึ่งมี 365 วัน ในทุก ๆ 4 ปี ให้เติมเดือนที่มี 28 วัน เพิ่มขึ้นอีก 1 วัน เป็น 29 วัน คือเดือนกุมภาพันธ์ เรียกว่า อธิกสุรทิน
เมื่อเพิ่มในเดือนกุมภาพันธ์มี 29 วันในทุก ๆ 4 ปี แต่วันในปฏิทินก็ยังไม่ค่อยตรงกับฤดูกาลนัก คือเวลาในปฏิทินยาวกว่าปีตามฤดูกาล เป็นเหตุให้ฤดูกาลมาถึงก่อนวันในปฏิทินและในวันที่ 21 มีนาคมตามปีปฏิทินของทุก ๆ ปี จะเป็นช่วงที่มีเวลากลางวันและกลางคืนเท่ากัน คือเป็นวันที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงทิศตะวันออก และลับลงตรงทิศตะวันตกเป๋ง วันนี้ทั่วโลกจึงมีช่วงเวลาเท่ากับ 12 ชั่วโมง เท่ากัน เรียกว่า วันทิวาราตรีเสมอภาคมีนาคม (Equinox in March)
แต่ในปี พ.ศ. 2125 วัน Equinox in March กลับไปเกิดขึ้นในวันที่ 11 มีนาคม แทนที่จะเป็นวันที่ 21 มีนาคม ดังนั้น พระสันตะปาปาเกรกอรี่ที่ 13 จึงทำการปรับปรุงแก้ไขหักวันออกไป 10 วันจากปีปฏิทิน และให้วันหลังจากวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2125 แทนที่จะเป็นวันที่ 5 ตุลาคม ก็ให้เปลี่ยนเป็นวันที่ 15 ตุลาคมแทน (เฉพาะในปี 2125 นี้) ปฏิทินแบบใหม่นี้จึงเรียกว่า ปฏิทินเกรกอเรี่ยน จากนั้นได้ปรับปรุงประกาศใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันเริ่มต้นของปีเป็นต้นมา

ความเป็นมาของ วันขึ้นปีใหม่ไทย
ในอดีต วันขึ้นปีใหม่ของไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงมาแล้ว 4 ครั้งคือ ครั้งแรกถือเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ซึ่ง ตรงกับเดือนมกราคม ครั้งที่ 2 กำหนดให้วันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตามคติพราหมณ์ ซึ่งตรงกับเดือนเมษายน
การกำหนดวันขึ้นปีใหม่ใน 2 ครั้งนี้ ถือเอาทางจันทรคติเป็นหลัก ต่อมาได้ถือเอาทางสุริยคติแทน โดยกำหนดให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ.2432 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะตามชนบทยังคงยึดถือเอาวันสงกรานต์เป็น วันขึ้นปีใหม่อยู่ ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทางราชการเห็นว่าวันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน ไม่สู้จะมีการรื่นเริงอะไรมากนัก สมควรที่จะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ จึงได้ประกาศให้มีงานรื่นเริงวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายน 2477 ขึ้นใน กรุงเทพฯเป็นครั้งแรก
การจัดงานวันขึ้นปีใหม่ที่ได้เริ่มเมื่อวันที่ 1 เมษายน ได้แพร่หลายออกไปต่างจังหวัดในปีต่อๆมา และในปี พ.ศ.2479 ก็ได้มีการ จัดงานรื่นเริงปีใหม่ทั่วทุกจังหวัด วันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน ในสมัยนั้นทางราชการเรียกว่า วันตรุษสงกรานต์
ต่อมาได้มีการพิจารณาเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น ซึ่งมีหลวงวิจิตรวาทการ เป็นประธานกรรมการ ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม โดยกำหนดให้วันที่ 1 มกราคม 2484 เป็น วันขึ้นปีใหม่เป็นต้นไป

เหตุผลที่ทางราชการได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายนมาเป็นวันที่ 1 มกราคม ก็คือ
1. ไม่ขัดกับพุทธศาสนาในด้านการนับวัน เดือน และการร่วมฉลองปีใหม่ด้วยการทำบุญ
2. เป็นการเลิกวิธีนำเอาลัทธิพราหมณ์มาคร่อมพระพุทธศาสนา
3. ทำให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้อยู่ในประเทศทั่วโลก
4. เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรม คตินิยม และจารีตประเพณีของชาติไทย

กิจกรรมที่ชาวไทยส่วนใหญ่มักจะยึดถือปฏิบัติในวันขึ้นปีใหม่ได้แก่
1. การทำบุญตักบาตร โดยอาจตักบาตรที่บ้าน หรือไปที่วัดหรือตามสถานที่ต่างๆที่ทางราชการเชิญชวนไปร่วมทำบุญ
2. การกราบขอพรจากผู้ใหญ่ และอวยพรเพื่อนฝูง การมอบของขวัญ การมอบช่อดอกไม้ หรือการส่งบัตรอวยพร
3. การจัดงานรื่นเริง การจัดเลี้ยงในหมู่เพื่อนฝูง ญาติพี่น้องหรือตามหน่วยงานต่างๆ
วันขึ้นปีใหม่นับเป็นโอกาสดีที่จะทำให้เราได้ทบทวนถึงการดำเนินชีวิตในอดีต เพื่อจะได้แก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นในอดีตให้ดีขึ้น

กิจกรรมใน วันขึ้นปีใหม่
วันที่ 1 มกราคม ของทุกปี จะมีการทำบุญตักบาตรและอุทิศส่วนกุศลผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ฟังเทศน์ ปล่อยปลา ปล่อยนก อวยพรซึ่งกันและกัน หรืออาจจะส่งการ์ดบัตรอวยพร ของขัวญไหว้ผู้ใหญ่เพื่อรับพร และสรงน้ำพระพุทธรูป ประดับธงชาติ และจะเตรียมทำความสะอาดบ้าน และที่พักอาศัย
เพลงวันปีใหม่ (เพลงพรปีใหม่ เพลงพระราชนิพนธ์ในหลวง)
ทำนอง: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ

สวัสดีวันปีใหม่พา ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์
ฤกษ์ยามดีเปรมปรีดิ์ชื่นชม ต่างสุขสมนิยมยินดี
ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า ให้บรรดาปวงท่านสุขศรี
โปรดประทานพรโดยปรานี ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย
ให้บรรดาปวงท่านสุขสันต์ ทุกวันทุกคืนชื่นชมให้สมฤทัย
ให้รุ่งเรืองในวันปีใหม่ ผองชาวไทยจงสวัสดี
ตลอดปีจงมีสุขใจ ตลอดไปนับแต่บัดนี้
ให้สิ้นทุกข์สุขเกษมเปรมปรีดิ์ สวัสดีวันปีใหม่เทอญ

เกี่ยวกับ เพลงพรปีใหม่
เพลงพระราชนิพนธ์ พรปีใหม่ เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 13 ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2494 เมื่อเสด็จนิวัตพระนคร และประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต มีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานพรปีใหม่ แก่บรรดาพสกนิกรไทยด้วยเพลง จึงทรงพระราชนิพนธ์เพลง "พรปีใหม่" และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องเป็นคำอำนวยพรปีใหม่ แล้วพระราชทานแก่วงดนตรี 2 วง คือ วงดนตรีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำออกบรรเลง ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลง ณ ศาลาเฉลิมไทย ในวันปีใหม่ วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2495

วันพุธที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2553

วันต้านเอดส์โลก วันเอดส์โลก (1 ธันวาคม)

วันต้านเอดส์โลก วันเอดส์โลก
1 ธันวาคม ของทุกปี
องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดเอา วันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปีเป็น"วันโลกต้านเอดส์" (WORLD AIDS DAY) และในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2532 ถือว่า เป็นวันโลกต้านเอดส์ครั้งแรก
ในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2532 ถือว่าเป็นวันโลกต้านเอดส์ครั้งแรก มีการจัดกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านโรคเอดส์หลายรูปแบบพร้อมกันทั่วโลก
โดยตั้งความหวังไว้ว่า
1.จะพยายามหยุดยั้งโรคเอดส์
2.ให้ความเห็นใจ ห่วงใย ต่อผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโรคเอดส์
3.ให้ทุก ๆ คนได้รู้เรื่องโรคเอดส์
จากการที่องค์การอนามัยโลก ได้ให้ความสำคัญของโรคเอดส์ดังกล่าว ย่อมเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า โรคเอดส์เป็นโรคที่มีความรุนแรง มีผลกระทบต่อตนเอง ต่อครอบครัว ต่อสังคมและต่อประเทศชาติ ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมากมาย
โรคเอดส์ (Acquired Immune Deficiency Syndrome) AIDS
A = Acquired หมายถึง ภาวะที่เกิดขึ้นภายหลังไม่ได้เป็นมาแต่กำเนิด หรือไม่ได้ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
I = Immune หมายถึง ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
D = Deficiency หมายถึง ความบกพร่อง ความเสื่อม
S = Syndrome หมายถึง กลุ่มอาการของโรค ซึ่งมีอาการหลายลักษณะตามระบบต่าง ของร่างกาย

โรคเอดส์ (AIDS) หรือ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Acquired Immune Deficiency Syndrome) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า ฮิวแมนอิมมิวโนเดฟีเซียนซีไวรัส (Human Immunodeficiency Virus) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า เอชไอวี (HIV) ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้กันต่ำลงเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกไวรัสทำลายและเสียชีวิตจากโรคต่าง ๆ ที่เข้ามาซ้ำเติมในภายหลัง (เรียกว่าโรคฉวยโอกาส) เช่น วัณโรค ปอดบวม ติดเชื้อในระบบโลหิต เชื้อรา ฯลฯ
เชื้อไวรัสเอดส์นี้มีหลายสายพันธุ์
สายพันธุ์หลักดั้งเดิม ได้แก่ เอชไอวี-1 (HIV-1) ซึ่งแพร่ระบาดในแถบสหรัฐอเมริกา ยุโรป และแอฟริกา กลาง


สายพันธุ์เอชไอวี-2 (HIV-2) แพร่ระบาดในแถบแอฟริกาตะวันตก นอกจากนั้นยังมีสายพันธุ์ย่อยอื่น ๆ อีกมากมายตามเวลาที่ผ่านไป ทั้งนี้เนื่องจากเชื้อไวรัสเอดส์นี้สามารถกลายพันธุ์ได้ง่าย
อาการติดเชื้อเอดส์แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1
กลุ่มผู้ที่ตรวจพบเชื้อไวรัสเอดส์แต่ยังไม่ปรากฎอาการผิดปกติแต่อย่างใด บุคคลกลุ่มนี้จัดเป็นพาหะนำโรคซึ่งสามารถแพร่เชื้อไปสู่บุคคลอื่นได้อย่างไม่จำกัดจำนวนนับว่าเป็นแหล่งแพร่เชื้อที่สำคัญ เพราะผู้ติดเชื้อจะไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ เป็นเวลานาน หากไม่มีการตรวจพบเชื้อจะไม่มีทางทราบได้เลย ว่าบุคคลนี้มีเชื้อไวรัสเอดส์อยู่ในร่างกาย จนกว่าจะมีอาการป่วยปรากฎออกมาให้เห็น

ระยะที่ 2
เป็นอาการที่พบได้ก่อนที่จะปรากฎอาการป่วยเป็นโรคเอดส์ (AIDS-Relate Complex) หรืออาจเรียกว่า กลุ่มอาการ ARC หมายถึง กลุ่มที่มีอาการ จะสังเกตได้จากอาการเรื้อรังที่ไม่ทราบสาเหตุในระยะนี้สามารถตรวจพบภูมิคุ้มกันในเลือดของผู้มีอาการนำ หรืออาจจะสังเกตลักษณะของอาการได้ดังนี้
1.มีไข้สูงเกิน 37.8 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลานานไม่ต่ำกว่า 3 เดือน
2.น้ำหนักตัวลดลงมากกว่า 4.5 กิโลกรัม หรือมากว่าร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัวเดิมภายใน 2 เดือน
3.ต่อมน้ำเหลืองตามร่างกายหลายแห่งบวมโตนานกว่า 3 เดือน
4.อุจจาระร่วงเรื้อรังนาน 1-3 เดือน
5.เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย มีเหงื่อออกตอนกลางคืน และพบว่าร้อยละ 20 ของกลุ่ม ARC จะมีอาการลุกลามไปเป็นโรคเอดส์ในเวลาต่อมา
6.แขนหรือขาข้างใดข้างหนึ่งจะไม่มีเรี่ยวแรงและทำงานไม่ประสานกัน

ระยะที่ 3
เป็นระยะที่กลุ่มผู้ป่วยจะปรากฎอาการของโรคเอดส์ซึ่งอาการในระยะนี้แบ่งตามอาการที่ปรากฏออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือการติดเชื้อชนิดฉวยโอกาส และอาการของโรคมะเร็ง
กลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคเอดส์ สามารถแยกออกได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้
1.กลุ่มมีเพศสัมพันธ์ผิดธรรมชาติหรือสำส่อนทางเพศ เช่น กลุ่มรักร่วมเพศชาย กลุ่มรักต่างเพศ
2.กลุ่มผู้ติดยาเสพติด
3.กลุ่มที่รับเลือดหรือผลิตภัณฑ์จากเลือด
4.กลุ่มที่ได้รับเลือดจากมารดา

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช


สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้ชาติไทยจากพม่า เมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ในขณะที่เมืองไทยอยู่ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด เพราะพม่าทำสงครามกับไทยครั้งนี้ ไม่ได้คิดจะรักษาเมืองเมืองไทยไว้เป็นเมืองขึ้น หมายแต่จะเอาทรัพย์สมบัติ กับกวาดต้อนผู้คนไปเป็นเชลย เพื่อเอาไว้ใช้สอยในเมืองพม่า เมื่อพม่าตีเมืองไหนได้ จึงเผาเสียทั้งเมืองน้อยเมืองใหญ่ ตลอดจนกรุงศรีอยุธยา แล้วเลิกทัพกลับไป คงทิ้งกำลังไว้ส่วนหนึ่งเพื่อคอย แสวงหาทรัพย์สมบัติและผู้คนที่ตกค้างอยู่ เพื่อรวบรวมส่งไปเมืองพม่าต่อไป ด้วยเหตุนี้พม่าจึงยังมีอำนาจอยู่ในพื้นที่กรุงศรีอยุธยา และหัวเมืองใกล้เคียง ส่วนหัวเมืองที่ไม่ได้เสียแก่พม่า เมื่อไม่มีพระเจ้าแผ่นดินปกครองก็กลายเป็นเมืองอิสระ ที่เป็นเมืองเล็กก็ยอมอ่อนน้อม ไปขึ้นอยู่กับเมืองใหญ่ที่อยู่ใกล้เคียง ผู้ที่เป็นเจ้าเมืองใหญ่ก็คิดตั้งตัวเป็นเจ้า ด้วย หวังจะเป็นใหญ่ในแผ่นดินไทยต่อไป เมืองไทยในครั้งนั้นจึงแตกออกเป็นกลุ่มเป็นพวก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช นอกจากจะกู้ประเทศไทยกลับคืนจากพม่าอันเป็นภารกิจหลักแล้ว ยังต้องทรงรวบรวมเมืองไทย ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเช่นแต่ก่อน ตลอดรัชสมัยของพระองค์ และทรงทำได้สำเร็จด้วยพระอัจฉริยภาพ และพระปรีชากล้าหาญของพระองค์ จนประสพผลสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ นำประเทศไทยกลับมามีเอกราชและยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย



ชุมนุมพระยาตาก (สิน)
ตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ที่เมืองจันทบุรี มีอาณาเขตตั้งแต่ต่อแดนกัมพูชามาจนถึงเมืองชลบุรี พระยาตากเดิมอยู่กรุงศรีอยุธยา แล้วขึ้นไปรับราชการที่เมืองเหนือ จนได้เป็นเจ้าเมืองตาก ครั้นพม่าเข้ามาล้อมกรุงศรีอยุธยา พระยาตากถูกเกณฑ์มาช่วยรักษาพระนคร มีฝีมือรบพุ่งเข้มแข็ง ได้รับบำเหน็จความชอบ ให้เลื่อนเป็นพระยากำแพงเพชร แต่ไม่ทันได้มีโอกาสไปครองเมือง เนื่องจากต้องสู้ศึกติดพันอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา การต่อสู้เพื่อรักษาพระนครหลายครั้ง มีเหตุการณ์ที่ทำให้พระยาตากเกิดท้อใจ กล่าวคือ ครั้งหนึ่ง พระยาตากนำกำลังออกไปรบชนะพม่า ตีค่ายพม่าได้ แต่ขาดกำลังหนุนจากพระนคร จำต้องถอยกำลังกลับมา ครั้งที่สอง พระยาตากได้รับมอบให้ไปคอยสกัดกำลังพม่าที่วัดใหญ่ พร้อมกันกับพระยาเพชรบุรี เมื่อเดือน 12 ปีจอ ฝ่ายพม่ายกกำลังทางเรือลัดทุ่งนามา พระยาตากเห็นว่าเหลือกำลังที่จะต่อสู้ได้ แต่พระยาเพชรบุรีขืนยกกำลังออกไปรบ จึงเสียทีแก่พม่า พระยาตากก็ถูกกล่าวหาว่าทิ้งให้พระยาเพชรบุรีเป็นอันตราย และครั้งหลังสุด ก่อนจะเสียกรุงศรีอยุธยาประมาณ 3 เดือน วันหนึ่ง พม่ายกกำลังเข้ามาทางด้านตะวันออกของพระนคร ที่พระยาตากรักษาอยู่ ได้ใช้ปืนใหญ่ยิงโดยไม่ได้ขออนุญาตก่อน จึงต้องถูกภาคทัณฑ์ เนื่องจากมีหมายสั่งว่า ถ้ากองไหนจะยิงปืนใหญ่ ต้องขออนุญาตที่

พระยาตากเห็นว่า ถ้าอยู่ช่วยรักษาพระนครต่อไป ก็จะไม่เกิดประโยชน์อันใด ครั้นถึงวันเสาร์ ขึ้น 4 ค่ำ เดือนยี่ ปีจอ พ.ศ. 2309 พระยาตากเห็นพม่าตั้งล้อมกระชั้นเข้ามาจวนถึงคูพระนคร จึงรวบรวมพรรคพวกได้ประมาณ 500 คน พอตกค่ำก็ยกกำลังออกจากค่ายวัดพิชัย ตีฝ่าวงล้อมของพม่าไปทางทิศตะวันออก ฝ่ายพม่าก็ไล่ติดตามไปทันที่บ้านโพธิสังหาร (โพธิสาวหาญ) ครั้นรุ่งเช้าพระยาตากก็นำกำลังเข้าต่อสู้กับพม่า จนพม่าแตกกลับไป แล้วจึงนำกำลังไปตั้งพักที่บ้านพรานนก ขณะนั้นมีกองกำลังพม่าอีกกองหนึ่ง มีกำลังพลเดินเท้า 200 คน กับพลม้าอีก 30 ม้า ยกมาจากบางคาง แขวงเมืองปราจีนบุรี พระยาตากนำกำลังเข้าตีแตกหนีไป พวกชาวบ้านที่หลบหนีพม่าอยู่ ทราบเรื่องพระยาตากต่อสู้มีชัยชนะพม่าก็ดีใจ พากันมาเข้าด้วยเป็นจำนวนมาก พระยาตากนำกำลังไปทางนาเริง และเมืองนครนายก แล้วไปทางด่านกบแจะข้ามลำน้ำเมืองปราจีนบุรีไปตั้งพักอยู่ทางชายดงศรีมหาโพธิฟากตะวันออก
ฝ่ายพวกพม่าที่แตกหนีไปนั้น ก็ได้แจ้งเรื่องให้นายทัพพม่าซึ่งตั้งอยู่ที่ปากน้ำเจ้าโล้ ทางใต้ของเมืองปราจีนบุรี นายทัพพม่าจึงแบ่งกำลัง ยกติดตามกองกำลังของพระยาตากไป ทั้งทางบก และทางเรือ พระยาตากรู้ว่าพม่าตามมา จึงให้กองครัวและพวกที่หาเสบียงอาหารรับล่วงหน้าไปก่อน แล้วเลือกชัยภูมิใช้พงไม้กำบังแทนแนวค่ายซุ่มกำลังไว้ แล้วใช้กำลังพลประมาณ 100 คน ออกไปรบล่อข้าศึกให้รุกไล่เข้าไปในพื้นที่ที่ซุ่มกำลังไว้ เมื่อได้ทางปืนแล้ว ก็ให้โจมตีพร้อมกัน กองกำลังพม่าก็แตกหนีไป ตั้งแต่นั้นมาพม่าก็มิได้ติดตามต่อไปอีก
พระยาตากยกกำลังผ่านเขตเมืองฉะเชิงเทราเมืองชลบุรีไปจนถึงบ้านนาเกลือ แขวงเมืองบางละมุง กิตติศัพท์ที่พระยาตากต่อสู้เอาชนะพม่าได้หลายครั้งนั้น เป็นที่เลื่องลือ จึงมีผู้คนมาเข้าด้วยเป็นจำนวนมาก จนสามารถจัดกำลังเป็นกองทัพได้ จากนั้นจึงได้ยกกำลังไปถึงเมืองระยอง เมื่อวันข้างแรม เดือนยี่ ปีจอ นั้น เพื่อที่จะใช้เมืองระยองเป็นที่ตั้งมั่นรวบรวมกำลังที่จะทำการต่อไป
ฝ่ายพระระยอง เห็นว่าเหลือกำลังจะสู้ได้จึงพาผู้คนมาอ่อนน้อมถึงกลางทาง พระยาตากจึงยกกำลังไปตั้งค่ายอยู่ที่วัดลุ่ม นอกบริเวณค่ายเก่า พวกกรมการเมืองได้คบคิดกัน เข้าปล้นค่ายพระยาตากเวลากลางคืน แต่พระยาตากรู้ตัวก่อน จึงวางกำลังตั้งรับอยู่ในค่าย เมื่อฝ่ายเมืองระยองยกกำลังเข้าปล้นค่าย จึงเสียทีหนีกลับไป พระยาตากก็ยกกำลังเข้าตามตี จนได้เมืองระยองในคืนวันนั้น เมื่อตั้งมั่นอยู่ที่เมืองระยองได้ คนทั่วไปจึงพากันเรียกพระยาตากว่า เจ้าตาก ตั้งแต่นั้นมา

การสร้างความเป็นปึกแผ่น

จากนั้นเจ้าตากจึงแต่งให้ทูตถือศุภอักษรไปยังพระยาจันทบุรี ขอให้มาช่วยกันปราบปรามพม่า เพื่อกู้กรุงศรีอยุธยา ตอนแรกพระยาจันทบุรีก็สนองด้วยด้วยดี ได้มอบเสบียงอาหารมาช่วยก่อน ต่อมาเกิดไม่ไว้ใจจึงไม่ได้มาพบเจ้าตากตามที่ตกลงกันไว้ ครั้นต่อมา กองทัพเจ้าตากจับหนังสือเนเมียวสีหบดี แม่ทัพพม่าที่ค่ายโพธิสามต้น ที่มีไปถึงพระยาจันทบุรี ให้เข้าไปอ่อนน้อมพม่าแต่โดยดี จึงเห็นว่าเป็นการดี ที่พระยาจันทบุรีจะได้ตัดสินใจว่าจะเข้ากับฝ่ายใด ขั้นต่อมา เจ้าตากได้แต่งทูตให้ถือศุภอักษรไปถึงพระยาราชาเศรษฐี เจ้าเมืองบันทายมาศ ขอให้ยกกองทัพมาช่วยกันกู้กรุงศรีอยุธยา พระยาราชาเศรษฐีก็ตอบรับด้วยดีโดย แต่งทูตให้ถือศุภอักษร มายังเจ้าตาก ขอผลัดว่า พอให้สิ้นฤดูมรสุมแล้วจะยกกองทัพมาช่วย
ครั้นถึงเดือน 5 ปีกุน พ.ศ. 2310 กรุงศรีอยุธยาก็เสียแก่ข้าศึก ความคิดของผู้ที่มีกำลัง และอำนาจอยู่ตามหัวเมืองก็เปลี่ยนแปลง พระยาจันทบุรีก็นิ่งเฉยอยู่ ฝ่ายขุนรามหมื่นซ่องกรมการเก่าเมืองระยอง ซึ่งเคยปล้นค่ายพระยาตากแล้วหนีไปนั้น ก็ไปตั้งกำลังซ่องสุมอยู่ที่เมืองแกลง อันเป็นเมืองขึ้นของเมืองจันทบุรี ก็ได้คุมสมัครพรรคพวกมาปล้น แย่งชิงช้างม้าพาหนะของเจ้าตากในหมู่นั้นด้วย เจ้าตากจึงยกกำลังไปกำราบ ขุนรามหมื่นซ่องสู้ไม่ได้จึงหนีไปอยู่กับพระยาจันทบุรี
เจ้าตากเห็นว่า การที่จะทำกำลังให้เป็นปึกแผ่นในพื้นที่ภาคตะวันออก จะต้องดำเนินการเป็นขั้นตอน ในขณะนั้น เมืองชลบุรี มีนายทองอยู่นกเล็กตั้งตัวขึ้นเป็นใหญ่ เจ้าตากจึงยกกำลังมายังเมืองชลบุรี ตั้งอยู่ที่หนองมนต่อแดนเมืองบางละมุง แล้วยกกำลังต่อไปยังเมืองชลบุรี ไปตั้งอยู่ที่วัดหลวง จากนั้น ได้ส่งคนไปเกลี้ยกล่อมนายทองอยู่นกเล็กให้อ่อนน้อม เมื่อนายทองอยู่นกเล็กเข้ามาอ่อนน้อมแล้ว เจ้าตากจึงตั้งให้เป็นที่พระยาอนุราชบุรี ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองชลบุรี แล้วเจ้าตากก็ยกกำลังกลับไปเมืองระยอง
ฝ่ายพระยาจันทบุรี เห็นว่าเจ้าตากมีกำลังเข้มแข็งขึ้นตามลำดับ เกรงอันตรายจะมาถึงเมืองจันทบุรี จึงได้นิมนต์พระสงฆ์ 4 รูป ให้เป็นทูตมาเชิญเจ้าตากลงไปที่เมืองจันทบุรี พร้อมกับแจ้งว่า เต็มใจที่จะช่วยเจ้าตากกู้บ้านเมือง แต่เนื่องจากระยองเป็นเมืองเล็ก จึงขอเชิญเจ้าตากไปตั้งที่เมืองจันทบุรี เจ้าตากทราบดังนั้นจึงยกกำลังไปเมืองจันทบุรี เมื่อไปถึงบางกระจะหัวแหวนซึ่งอยู่ห่างจากเมืองจันทบุรี 200 เส้น พระยาจันทบุรีก็ให้หลวงปลัดมารับและแจ้งว่า พระยาจันทบุรีได้จัดที่ไว้ ให้ตั้งทำเนียบที่พักริมน้ำข้างฟากใต้ ตรงเมืองข้าม เจ้าตากไม่ไว้วางใจ จึงให้นำกำลังไปทางเหนือ เข้าไปตั้งอยู่ที่วัดแก้ว ห่างจากประตูท่าช้างเมืองจันทบุรี ประมาณ 5 เส้น พระยาจันทบุรีเห็นดังนั้น จึงให้ไพร่พลเข้ารักษาหน้าที่เชิงเทิน แล้วให้ขุนพรหมธิบาล ซึ่งเป็นพระท้ายน้ำ ออกไปหาเจ้าตากเชิญเจ้าตาก ไปพบพระยาจันทบุรีที่ในเมือง เจ้าตากจึงสั่งขุนพรหมธิบาล ให้กลับไปบอกพระยาจันทบุรี มีความว่า เดิมพระยาจันทบุรีเชิญให้มาปรึกษาหารือ เพื่อจะช่วยกันคิดอ่านกู้กรุงศรีอยุธยาโดยสุจริต ตัวเราเดิมก็เป็นเจ้าเมือง ถือศักดินาหมื่น มียศใหญ่ เป็นผู้ใหญ่กว่าพระยาจันทบุรี (เมืองกำแพงเพชรเป็นหัวเมืองชั้นโท เมืองจันทบุรีเป็นหัวเมืองชั้นตรี) ครั้นมาถึงเมือง พระยาจันทบุรีมิได้ออกมาหาสู่ต้อนรับตามฉันผู้น้อยผู้ใหญ่ กลับเรียกระดมพลเข้าประจำรักษาหน้าที่เชิงเทิน และยังคบหาขุนรามหมื่นซ่องซึ่งได้ทำลายเราถึง 2 คราวเข้าไว้เป็นมิตร ทำตัวเหมือนหนึ่งว่าเป็นข้าศึกกับเราเช่นนี้ จะให้เราเข้าไปหาถึงในเมืองได้อย่างไร ถ้าจะให้เราเข้าไป ก็ให้พระยาจันทบุรีออกมาหาเราก่อน หรือมิฉะนั้น ก็ส่งตัวหมื่นซ่องออกมาทำสัตย์สาบาน ให้เราวางใจได้ก่อน เพื่อให้เห็นความสุจริตของพระยาจันทบุรี แต่พระยาจันทบุรีก็ไม่ยอมปฏิบัติตาม เจ้าตากจึงสั่งไปบอกพระยาจันทบุรีว่า เมื่อไม่เห็นแก่ไมตรี ก็จงรักษาเมืองให้ดีเถิด
เจ้าตากพิจารณาแล้วเห็นว่า การตีเมืองจันทบุรีต้องชิงกระทำให้เสร็จโดยเร็ว เนื่องจากปัจจัยหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดแคลนเสบียงอาหาร ดังนั้น เมื่อได้สั่งการตีเมืองจันทบุรีในตอนค่ำ เมื่อทหารกินข้าวเย็นเสร็จแล้ว จึงให้ทิ้งอาหารที่เหลือ และทุบหม้อข้าวทิ้งเสีย หมายไปกินข้าวเช้าด้วยกันในเมืองวันพรุ่งนี้ ถ้าตีเอาเมืองไม่ได้ในคืนวันนี้ ก็ให้ตายด้วยกันทั้งหมด เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว พอได้เวลาดึก 3 นาฬิกา เจ้าตากก็ขึ้นช้างพังคีรีบัญชร ยิงปืนเป็นสัญญาณให้ทหารเข้าตีเมืองพร้อมกันทุกหน้าที่ ส่วนเจ้าตากก็ขับช้างที่นั่งเข้าพังประตูเมือง ทหารที่รักษาหน้าที่ก็ระดมยิงปืนใหญ่น้อยระดมมาเป็นอันมาก นายท้ายช้างที่นั่งเห็นดังนั้น เกรงว่าจะถูกเจ้าตาก จึงบังคับช้างให้ถอยออกมา เจ้าตากขัดพระทัยชัก พระแสงหันมาจะฟันนายช้าง นายช้างตกใจทูลขอชีวิตไว้ แล้วไสช้างกลับเข้ารื้อบานประตูพังลง พวกทหารก็เข้าเมืองได้ พระยาจันทบุรีก็พาครอบครัวลงเรือ หนีไปเมืองบันทายมาศ เจ้าตากตีเมืองจันทบุรีได้เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 7 ปีกุน พ.ศ. 2310 หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยา แล้ว 1 เดือน
เมื่อเจ้าตากได้เมืองจันทบุรีแล้ว ก็เกลี้ยกล่อมผู้คนให้กลับคืนภูมิลำเนา แสดงความเมตตาอารีให้ปรากฎ มิได้ถือโทษผู้ที่ได้เป็นคู่ต่อสู้มาก่อน เมื่อจัดการเมืองจันทบุรีเรียบร้อยดีแล้ว จึงยกทัพลงไปเมืองตราด พวกกรมการและราษฎรก็พากันยอมอ่อนน้อม ขณะนั้นมีสำเภาจีนมาจอดทอดสมออยู่ที่ปากน้ำเมืองตราดหลายลำ เจ้าตากให้ไปเรียกนายเรือมาเฝ้า พวกจีนขัดขืนและยังทำการต่อสู้ เจ้าตากจึงคุมเรือรบไปล้อมสำเภาไว้ มีการต่อสู้กันอยู่ครึ่งวันก็ยึดสำเภาไว้ได้ทั้งหมด เมื่อจัดการเมืองตราดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ยกกำลังกลับมาตั้งที่เมืองจันทบุรี ตั้งแต่นั้นมา เจ้าตากก็มีอำนาจสิทธิขาด ตลอดทุกหัวเมืองชายทะเลด้านตะวันออก จึงตั้งต้นเตรียมการกอบกู้กรุงศรีอยุธยาต่อไป ขณะนั้นเจ้าตากอายุ 34 ปี

สงครามกู้ชาติ ตีค่ายพม่าที่โพธิสามต้น


หลังจากได้เมืองตราดแล้วก็ล่วงเข้าฤดูฝน ต้องหยุดยั้งการรบพุ่ง ในระหว่างนั้นก็ให้ลงมือต่อเรือรบ และรวบรวมเครื่องศัตราวุธ และยุทธภัณฑ์ต่าง ๆ หมายจะยกมาชิงกรุงศรีอยุธยาจากพม่าในฤดูแล้ง ในระหว่างนั้น ข้าราชการเก่าในกรุงศรีอยุธยาที่หลบหนีพม่ามาได้ เมื่อทราบว่า เจ้าตากกำลังรวบรวมผู้คนที่จะกู้กรุงศรีอยุธยา ก็พากันมาเข้าด้วยเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญมีหลวงศักดิ์นายเวรมหาดเล็ก และนายสุดจินดาหุ้มแพร มหาดเล็ก ท่านผู้นี้ต่อมาคือ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท
ครั้นถึงเดือน 11 ปีกุน พ.ศ. 2310 สิ้นมรสุม เจ้าตากต่อเรือรบได้ 100 ลำ รวบรวมกำลังพลได้ 4,000 คน ก็ยกกำลังจากเมืองจันทบุรี มาถึงเมืองชลบุรี พวกราษฎรพากันกล่าวโทษนายทองอยู่นกเล็ก ซึ่งเจ้าตากตั้งให้เป็นพระยาอนุราฐ อยู่รักษาเมืองชลบุรีว่าประพฤติเป็นโจร เมื่อชำระได้ความเป็นสัตย์ เจ้าตากก็ให้ประหารชีวิตเสีย เมื่อจัดการทางเมืองชลบุรีเสร็จแล้ว เจ้าตากก็ยกกองทัพเรือมาเข้าปากน้ำเจ้าพระยา ในวันข้าง
ฝ่ายนายทองอิน คนไทยซึ่งพม่าตั้งให้รักษาเมืองธนบุรี รู้ว่าเจ้าตากยกกองทัพเรือเข้ามาทางปากแม่น้ำ ก็รีบแจ้งให้สุกี้แม่ทัพพม่าที่ค่ายโพธิสามต้น แล้วให้จัดกำลังขึ้นรักษาป้อมวิชัยประสิทธิ์ และเข้ารักษาหน้าที่เชิงเทินเมืองธนบุรี เตรียมต่อสู้ เมื่อกองทัพเจ้าตากยกขึ้นมาถึง พวกรี้พลเห็นว่าเป็นคนไทยด้วยกัน ก็ไม่เป็นใจที่จะต่อสู้ เจ้าตากจึงยึดได้เมืองธนบุรี จับตัวนายทองอินได้ให้ประหารชีวิตเสีย แล้วเร่งกองทัพขึ้นไปยังกรุงศรีอยุธยา สุกี้จึงให้มองย่านายทัพรองคุมกำลังพลมอญและไทยที่มาอยู่ด้วย ยกลงมาทางเรือมาตั้งสกัดอยู่ที่เพนียด พวกคนไทยที่มาในกองทัพมองย่า รู้ว่าเป็นกองทัพไทย ก็รวนเรหนีไปบ้าง มาเข้ากับเจ้าตากบ้าง มองย่าเห็นดังนั้น ก็รีบหนีเอาตัวรอดกลับไปค่ายโพธิสามต้น เจ้าตากก็ยกกำลังตามขึ้นไปถึงค่ายโพธิสามต้น ก็สั่งให้เข้าตีค่ายพม่าข้างฟากตะวันออกในตอนเช้า พอเวลา 9 นาฬิกาก็ตีได้ แล้วให้ทำบันได สำหรับปีนค่ายพม่าข้างฟากตะวันตก พอตกค่ำก็ให้พระยาพิพิธ พระยาพิชัย คุมกองทหารจีน ไปตั้งประชิดค่ายสุกี้ทางด้านวัดกลาง พอรุ่งเช้าก็ให้กองทหารไทย จีน เข้าระดมตีค่ายสุกี้พร้อมกัน ตั้งแต่เช้าจนเที่ยง ก็เข้าค่ายพม่าได้ สุกี้แม่ทัพพม่าตายในที่รบ ไพร่พลก็แตกหนีไปได้บ้าง ที่ยอมอ่อนน้อมก็มีเป็นอันมาก กรุงศรีอยุธยาก็กลับคืนมาเป็นของไทย
เจ้าตากตั้งทัพอยู่ที่ค่ายโพธิสามต้น พวกข้าราชการไทยที่พม่าจับเอาไว้หลายคน คือ พระยาธิเบศรบดี จางวางมหาดเล็กเป็นต้น พากันมาเฝ้าเจ้าตาก ทูลให้ทราบถึงเรื่องที่พระเจ้าเอกทัศสวรรคต สุกี้ให้ฝังพระบรมศพไว้ในพระนคร และทูลว่า ยังมีเจ้านายที่พม่าจับได้ ยังกักขังอยู่หลายพระองค์ พม่ายังไม่ได้ส่งไปเมืองอังวะ เจ้าตากทราบก็มีความสงสารจึงได้อุปการะไว้ สั่งให้จัดที่ให้เจ้านายประทับตามสมควร และปล่อยคนทั้งปวงที่พม่ากังขังไว้ ให้ปลูกเมรุที่ท้องสนามหลวง ให้สร้างพระโกศกับเครื่องประดับ สำหรับงานพระบรมศพ แล้วให้ขุดพระบรมศพพระเจ้าเอกทัศ เชิญลงพระโกศ เที่ยวหาพระสงฆ์ซึ่งยังมีเหลืออยู่ มารับทักษิณานุปทาน และสดับปกรณ์ตามประเพณี แล้วจึงจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพ

เจ้าตากคิดจะปฏิสังขรณ์พระนครเพื่อตั้งเป็นราชธานีดังเดิม จึงขึ้นช้างเที่ยวสำรวจตรวจดูสภาพของกรุงศรีอยุธยา เห็นว่าถูกข้าศึกเผาทำลายเสียเป็นอันมาก ที่ยังดีอยู่นั้นน้อยก็สังเวชสลดพระทัย เห็นว่าเกินที่จะปฏิสังขรณ์ได้ จึงให้อพยพผู้คนลงมาตั้งราชธานีอยู่ที่เมืองธนบุรี การที่เจ้าตากไม่ใช้กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีต่อไป นั้นมีเหตุผลทางด้านยุทธวิธีอยู่มาก เนื่องจากกรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองใหญ่ กำลังพลของเจ้าตากที่มีอยู่ในขณะนั้นไม่เพียงพอที่จะรักษาอยู่ได้ เมืองธนบุรีตั้งอยู่ริมลำน้ำลึก ใกล้ทะเล ง่ายต่อการป้องกันตนตามกำลังที่มีอยู่ และเป็นทำเลทางหนีทีไล่ที่ดีกว่าเมืองอื่น นอกจากนั้น ยังมีเหตุผลทางด้านยุทธศาสตร์กล่าวคือ เมืองธนบุรีตั้งปิดปากน้ำ ที่บรรดาหัวเมืองเหนือทั้งปวง จะติดต่อไปมากับต่างประเทศเช่นเดียวกับกรุงศรีอยุธยา

เซอร์ ไอแซค นิวตัน



นิวตัน เกิดเมื่อวันที่ 4 มกราคม ปี คศ. 1643 ที่เมืองวูลส์ชอร์ป ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ทำทางด้านเกษตรกรรม เหนือจากกรุงลอนดอนประมาณ 200 กิโลเมตร ขณะที่นิวตันเกิด พ่อของเขาได้เสียชีวิตก่อนหน้าแล้วประมาณสามเดือน
หลังจากนั้นไม่นาน มารดาของนิวตันได้แต่งงานใหม่ และย้ายไปอยู่กับสามีที่ในเมือง นิวตันอาศัยอยู่กับย่าที่วูลส์ชอร์ป นิวตันได้แสดงให้เห็นถึงการเป็นคนสนใจในการเรียนรู้ตั้งแต่ยังเด็ก เขาชอบคิดค้นและประดิษฐ์ของต่าง ๆ นิวตันได้สร้างความประหลาดใจให้กับชาวบ้านแถบนั้นด้วยการประดิษฐ์นาฬิกาที่ทำจากกลไก และใช้พลังน้ำเป็นตัวขับเคลื่อนยังความประหลาดใจกับผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก

ในวยเด็ก นิวตันได้เข้าศึกษาที่ คิวสคูล ซึ่งเป็นโรงเรียนประถมและมัธยม ที่อยู่ห่างจากบ้านเขาพอควร เขาต้องจากย่าไปอยู่บ้านพักใกล้โรงเรียน นิวตันแสดงความเป็นคนช่างสังเกต ใฝ่หาความรู้ เขาตั้งคำถาม ถามตัวเองเสมอว่า ดวงจันทร์ ดวงใหญ่อยู่ไกลจากโลกเท่าไร บนท้องฟ้ามีดาวกี่ดวง
ต่อมาเมื่อสามีใหม่ของมารดาที่อาศัยอยู่ด้วยกันที่ในเมืองเสียชีวิต นิวตันจึงต้องออกจากโรงเรียนมาช่วยมารดาทำไร่ และเลี้ยงสัตว์อยู่ที่วูลส์ชอร์ป นิวตันได้แสดงให้เห็นว่าเขาไม่สนใจในการทำไร่ แต่มักจะนำหนังสือติดตัวไปอ่านด้วยเสมอ เมื่อน้าเขาเห็นแววของการใฝ่รู้ จึงสนับสนุนให้เขาได้เข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในสายของวิทยาลัยทรินิตี นิวตันได้แสดงแววของการเรียนรู้อย่างสร้างสรร เขาได้ทำการศึกษาแนวคิดของนักคณิตศาสตร์ตั้งแต่ยุคโบราณ ไม่ว่าจะเป็น อริสโตเติล ยูคลิด เคปเลอร์ กาลิเลโอ เดส์คเวิทส์ เขาจึงสานต่อความคิดของกาลิเลโอ เพราะในปีที่เขาเกิดเป็นปีที่กาลิเลโอเสียชีวิต เคปเลอร์ได้แสดงให้เห็นว่าดาวเคราะห์โคจรรอบดวงอาทิตย์ และมีกฎเกณท์ของการโคจรสาม ดังนี้

1. กฎแห่งวงรี กล่าวว่า ดาวเคราะห์โคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี โดยมีดวงอาทิตย์อยู่ที่ตำแหน่งของจุดโฟกัสหนึ่ง
2. กฎแห่งพื้นที่ กล่าวว่า เมื่อดาวเคราะห์โคจรในรอบดวงอาทิตย์ เส้นรัศมีที่ลากจากดวงอาทิตย์ไปยังดาวเคราะห์จะกวาดพื้นที่เป็นสัดส่วนโดยตรงกับระยะทางที่ดาวเคราะห์โคจรรอบดวงอาทิตย์
3. กฎฮาร์โมนิก กล่าวว่า กำลังสองของเวลาที่ใช้ในการโคจรของดาวเคราะห์รอบหนึ่ง เป็นสัดส่วนตรงกับกำลังสามของระยะทางเฉลี่ยจากดวงอาทิตย์ถึงดาวเคราะห์นั้น

ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ วิทยาลัยทรินิตี นิวตันได้ศึกษาวิชาการทางด้านดาราศาสตร์ แสง คณิตศาสตร์ ระหว่างนั้นเกิดโรคระบาด ทำให้มหาวิทยาลัยต้องปิดลง เขาจึงกลับบ้าน และทำการศึกษาคิดหาคำตอบว่า ทำไมลูกแอปเปิ้ล จึงตกลงสู่พื้นดิน ทำไมดวงจันทร์จึงโคจรรอบโลกได้ นิวตันได้ศึกษาค้นคว้า "กฎการเคลื่อนที่" กล่าวคือ วัตถุเมื่อเคลื่อนที่จะเคลื่อนที่ต่อไป และถ้ามีแรงมากระทำ ก็จะเกิดการเคลื่อนที่ด้วยอัตราเร่งตามแนวทิศแรงนั้น

การคิดค้นกฎแห่งการเคลื่อนที่ของนิวตัน ทำให้สามารถอธิบายปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ได้อย่างมากมาย และเป็นที่มาของกฎแห่งแรงโน้มถ่วง ซึ่งกล่าวว่า มีแรงชนิดหนึ่งกระทำระหว่างวัตถุสองชิ้น เช่น โลกกับดวงอาทิตย์ แรงนี้จะแปรผกผันกับระยะทางกำลังสองระหว่างดาวทั้งสองและจะแปรตามมวลของวัตถุทั้งสองนั้น
นิวตันได้พัฒนาคิดค้นแคลคูลัส ซึ่งเป็นเรื่องของดิฟเฟอเรนเชียนและอินทิกรัล เพื่อใช้ในการพิสูจน์กฎเกณฑ์ทางดาราศาสตร์ และยังได้พัฒนาทฤษฎีไบโนเมียล
ผลงานวิจัยของนิวตันทำให้ทราบถึงเหตุผลว่าทำไมวัตถุทั้งหลายจึงตกลงสู่เบื้องล่าง แรงที่กระทำระหว่างวัตถุกับโลกขึ้นกับอะไรบ้าง ทำไมดวงจันทร์จึงโคจรรอบโลกโดยไม่หลุดลอยออกไป ผลงานวิจัยของนิวตันจึงเป็นงานระดับสุดยอด เขาได้รับการยกย่องให้เป็นนักวิจัยชั้นนำ
นอกจากงานคิดค้นในเรื่องคณิตศาสตร์แล้ว นิวตันยังประสบผลสำเร็จอีกมากมาย เช่น การค้นพบว่าแสงเป็นคลื่น และสามารถหักเหได้โดยมีคลื่นความถี่ต่างกัน มีสีแตกต่างกัน เมื่อผ่านปริซึมสามารถแยกสีออกจากกันได้ และยังได้ประดิษฐ์กล้องโทรทัศน์ชนิดสะท้อนแสงที่มีขนาดเล็ก ผลงานเหล่านี้ทำให้นิวตันเป็นศาสตราจารย์ด้วยวัยเพียงอายุ 27 ปี
เนื่องจากนิวตันเป็นคนที่ถ่อมตน ผลงานวิจัยของนิวตันได้ทำขึ้นด้วยใจรัก นิวตัวไม่ได้ประกาศให้โลกรู้ จึงทำให้ภายหลังมีข้อโต้แย้งว่าใครเป็นผู้คิดได้ก่อน ระหว่างนิวตันกับโรเบิร์ตฮูกานักฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษและไลปฟิซ นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน
เอดิมันด์ ฮัลเลย์ ซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์ผู้มีชื่อเสียง ในการค้นพบการโคจรของดาวหาง และเป็นผู้ค้นพบดาวหางฮัลเลย์ที่รู้จักกันดี ฮัลเลย์รู้สึกเสียดายผลงานของนิวตัน จึงขอร้องให้นิวตันรวบรวมผลงานค้นคว้าและเผยแพร่ต่อสาธารณชน ฮัลเลย์ช่วยสนับสนุนในการจัดพิมพ์โดยตั้งชื่อหนังสือว่า PRINCIPIA
หนังสือ PRINCIPIA เป็นสมบัติล้ำค่าของมนุษยชาติ เป็นการรวบรวมการค้นพบต่าง ๆ ของนิวตัน การค้นพบหลาย ๆ อย่างมีรากฐานมาจากกฎการเคลื่อนที่ และกฎแห่งแรงโน้มถ่วง ฮัลเลย์ได้ใช้กฎเกณฑ์เหล่านี้ จนทำให้ค้นพบดาวหาง และสามารถคำนวณวงโคจรของดาวหาง และพยากรณ์การกลับมาของดาวหางได้ถูกต้อง
ในสมัยนั้น เป็นที่รู้กันมาตั้งแต่โบราณว่าดาวเคราะห์มี 5 ดวง คือ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ เพราะเป็นดาวที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า ต่อมาจึงค้นพบดาวเคราะห์ดวงใหม่ ๆ ซึ่งก็ใช้หลักการเคลื่อนที่ของนิวตัน ในปี คศ. 1681 ฮาเซล นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษค้นพบดาวยูเรนัส จากการศึกษาวงโคจรและการเคลื่อนที่ของดาวยูเรนัส ทำให้รูบริเอ ชาวฝรั่งเศษและอดัมส์ชาวอังกฤษใช้กฎการเคลื่อนที่นี้พยากรณ์ว่าจะมีดาวเคราะห์อีกดวงห่างออกไป และสามารถค้นพบดาวพลูโตในปี คศ. 1846
นิวตันได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ปี คศ. 1727 ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ นิวตันได้ทิ้งผลงานอันเป็นประโยชน์ต่อชาวโลกมากมาย

นีล อาร์มสตรอง มนุษย์คนแรกได้ก้าวเท้าลงบนดวงจันทร์


วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2512 (ค.ศ. 1969) เมื่อนาซ่ากำหนดให้เป็นวันเดินทางของอพอลโล 11 ยานที่จะนำพามนุษย์ไปลงบนดวงจันทร์
เช้าวันประวัติศาสตร์แห่งศตวรรษที่ 20 คนนับล้านเฝ้ารอดูการเดินทางไปดวงจันทร์ ผ่านการถ่ายทอดรายการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ลูกเรือสามคนของอพอลโล 11 ประกอบไปด้วย นีล อาร์มสตรอง, เอดวิน อัลดริน และ ไมเคิล คอลลินส์ ยานทำการลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ ณ บริเวณทะเลแห่งความสงบ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2512 (วันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1969) เวลา 09:56 น. ตามเวลาในประเทศไทย
นีล เอ. อาร์มสตรอง (Neil A. Armstrong) ออกจากยานดวงจันทร์ โดยใช้เท้าซ้ายเหยียบลงบนพื้นดินดวงจันทร์ พร้อมกับกล่าวว่า "ก้าวเล็ก ๆ ของมนุษย์คนหนึ่ง เป็นก้าวกระโดดไกลของมนุษยชาติ" และนี่คือรอยเท้าแรกของมนุษย์บนดวงจันทร์


เมื่อเวลาผ่านไป 19 นาที หลังจาก นีล อาร์มสตรอง ก้าวเท้าลงเหยียบพื้นดินดวงจันทร์ บัซ อัลดริน (Buzz Aldrin) ก้าวเท้าตามลงมา พร้อมกับกล่าวคำสั้นๆ ถึงเอ่ยคำออกมาสั้นๆ สภาพพื้นผิวบนดวงจันทร์ที่ตนมองเห็นว่า "เป็นความอ้างว้างที่ยิ่งใหญ่มาก" (magnificent desolation) โดยมีลูกเรือคนที่สาม คือ ไมเคิล คอลลินส์ (Michael Collins) คอยควบคุมยานรออยู่ในอวกาศรอบดวงจันทร์
จากนั้นมนุษย์อวกาศทั้ง 2 คนจึงทำการนำธงชาติสหรัฐปักลงไปบนพื้นดินดวงจันทร์ และทำการเก็บตัวอย่างดินหิน ดวงจันทร์กลับมายังโลกรวม 22.5 กิโลกรัม พร้อมทั้งติดตั้งอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ และสำรวจดวงจันทร์ภายในรัศมีที่กำหนดไว้


พวกเขาใช้เวลาบนดวงจันทร์ทั้งสิ้น 2 ชั่วโมง 31 นาที ก่อนเดินทางกับถึงโลกอย่างปลอดภัยในวันที่ 24 กรกฎาคม ลงบนมหาสมุทรแปซิฟิก ภารกิจของอพอลโล 11 นับตั้งแต่ออกเดินทางจนกลับมาถึงโลกใช้เวลารวมเเล้ว 195 ชั่วโมงกับอีก 18 นาที
หลังจากอพอลโล 11 นาซาได้ส่งยานไปสำรวจดวงจันทร์อีก 6 ลำ มีเพียงอพอลโล 13 เท่านั้นที่ต้องยกเลิกภารกิจสำรวจดวงจันทร์เนื่องจากเกิดอุบัติเหตุถัง ออกซิเจนในยานบริการระเบิดก่อนหน้าจะเข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์ 2 วัน ยานจึงต้องเดินทางกลับโลกไม่ได้ลงสัมผัสดวงจันทร์ได้ตามแผน และ เมื่อเดือนธันวาคม 1972 อพอลโล่ 17 ก็ได้ปฏิบัติภารกิจสำรวจดวงจันทร์ และปิดฉากโครงการอพอลโลลง

นิวซีแลนด์ (New Zealand)

นิวซีแลนด์ ดินแดนแห่งความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ ที่ยิ่งใหญ่เกินคำบรรยาย เกาะเหนือและเกาะใต้ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการขับรถเที่ยว ตามเส้นทางตระการตาแห่งยอดเขา ทะเลสาบ และแหล่งธรรมชาติมากมาย มีเมืองที่น่าสนใจกำลังเรียกร้องให้ไปเยือน ณ ดินแดน แห่งนี้ ที่ได้รับการขนานนามว่า “อังกฤษนอกเกาะอังกฤษ”
การขับรถเที่ยวนิวซีแลนด์ทำได้แบบง่ายๆ สไตล์ชิลๆ สามารถกำหนดเส้นทางได้เองโดยมีโปรแกรมแนะนำให้ทั้งในเกาะเหนือและเกาะใต้ เพียงแต่จ่ายค่าเช่ารถ ขับรถเที่ยวจากเกาะเหนือ-ใต้ ไปถึงที่ไหน ก็ทิ้งรถไว้ที่นั่น
แถมบางช่วงก็เดินทางได้โดยไม่ต้อง ห่วงรถเดินทางด้วยเครื่องบินเฮลิคอป เตอร์ ชมหิมะ น้ำแข็งบนเทือกเขาสูงและชมชายฝั่งมหาสมุทร แปซิฟิกได้ด้วย
การเดินทางจะเริ่มจากเกาะเหนือหรือจะไปแต่เฉพาะเกาะใต้ก็ได้ ถ้าเกาะเหนือ จะเริ่มจากเมืองโอกแลนด์ (Auckland) เมืองที่ใหญ่ที่สุดของเกาะเหนือ ศูนย์กลางพาณิชยกรรมและการค้าที่สำคัญที่สุดของประเทศนิวซีแลนด์ ได้รับสมญานามว่า เมืองแห่งการแล่นเรือใบ (City of Sails) มีอ่าวจอดเรือที่สมบูรณ์แบบ ชมสะพานฮาเบอร์และท่าจอดเรือยอชท์ที่สวยงาม ชมทัศนียภาพของเมือง โอกแลนด์บนยอดเขาอีเดน (Mt. Eden) ที่เกิดจากปล่องภูเขาไฟที่ดับแล้ว ซึ่งเป็นจุดชมวิวที่ดีที่สุด



“กีวี” เป็นชื่อนกชนิดหนึ่งที่ออกหากินเวลากลางคืน พบได้ที่นิวซีแลนด์ประเทศเดียวเท่านั้น นกกีวีเป็นนกแต่บินไม่ได้ ขนาดพอๆ กับแม่ไก่ มีปากเหมือนหลอดดูดน้ำ เพื่อจิ้มลงไปในดินใช้ดูดแมลงหรือไส้เดือน นกกีวีตัวผู้จะเป็นผู้ฟักไข่
อยากเห็นนกกีวีต้องไปดูที่ “บ้านกีวี” ที่จัดเตรียมไว้เท่านั้น ไม่สามารถพบเห็นได้ทั่วๆ ไป

ไปชมสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติที่คุณจะไม่มีวันลืม เช่น บ่อน้ำพุร้อน บ่อโคลนเดือด ภูเขาไฟที่ยังไม่ดับ เมืองโรโตรัว (Rotorua) จึงเป็นเมืองท่องเที่ยวที่โด่งดังและมีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของเกาะเหนือ เมืองแห่งน้ำแร่ น้ำพุร้อน และบ่อโคลนเดือด ตั้งอยู่ริมทะเลสาบโรโตรัว ซึ่งได้รับสมญานามว่า Sulphur City
ที่อุทยานน้ำพุร้อน Te Puia ศูนย์อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองชาวเมารี ชมงานศิลปหัตถกรรมการแกะสลักเครื่องไม้และการทอเครื่อง นุ่งห่มจากต้นป่านและความเป็นอยู่ในอดีตของชาวเมารี ชมบ่อโคลนเดือดธรรมชาติและน้ำพุร้อนใต้ดิน “พูโฮโต” ที่ไม่เคยหลับไหลมานานนับพันปี
เมื่อขับรถมาถึงเกาะใต้ หรือเลือกขับที่เกาะใต้ จะได้พบกับบรรยากาศสุดโรแมนติกของเมืองไคร้สท์เชิร์ช (Christchurch) เมืองที่ขึ้นชื่อว่าคล้ายอังกฤษมากที่สุดในโลก ไคร้สท์เชิร์ชในเกาะใต้ สัมผัสความงดงามของสถาปัตยกรรมสมัยวิคตอเรียที่จัตุรัสกลางเมือง ก่อนเดินทางสู่อุทยานแห่งชาติเมาท์คุก หรือจะเลือกขับต่อไปยังเมืองควีนส์ทาวน์ เพชรเม็ดงามและเมืองกิจกรรมผจญภัยต่างๆ ของเกาะใต้


เดินทางผ่านทุ่งราบแคนเทอร์เบอร์รี่ แหล่งเพาะพันธุ์แกะและวัวที่สำคัญของเกาะใต้ เดินทางผ่านเมืองแอชเบอร์ตัน เจอร์ราดีน และแฟร์รี่ เข้าสู่ทะเลสาบเทคาโป ชื่นชมทัศนียภาพยามเช้าอันสวยงามของทะเลสาบเทคาโป ทะเลสาบสีเทอร์ควอยซ์ ซึ่งเกิดจากการละลายของหิมะบนเทือกเขา ไหลลงสู่ทะเลสาบจนทำให้น้ำทะเลสาบใสเป็นสีฟ้า ถ่ายรูปคู่กับโบสถ์เล็กๆ ริมทะเลสาบและอนุสาวรีย์สุนัขต้อนแกะ

นักท่องเที่ยวสามารถไปได้ทุกซอกทุกมุม จะขึ้นรถโค้ชหรือรถประจำทางก็ไปได้ทุกเมือง เยี่ยมชมจุดต่างๆ ได้บ่อยและมากเท่าที่ต้องการ ในแพ็คเกจจะพานั่งรถโค้ชท่องเที่ยวไปตามจุดไฮไลท์ต่างๆ ในเมืองแบบไม่จำกัดเที่ยว นั่งเรือเฟอร์รี่จากท่าเรือไปยังเมืองเล็กต่างๆ มีบริการรถรับส่งจากสนามบินไปยังบ้านพักเยาวชน พร้อมให้ที่พักฟรีอีกสองคืนในห้องรวมด้วย
จากการสำรวจพบว่า นิวซีแลนด์เป็นจุดหมายที่ “คนรุ่นใหม่” ที่มีการศึกษาเลือกที่จะเป็นจุดท่องโลกแบบ “อิสระ” ด้วยตนเอง


นิวซีแลนด์ (New Zealand)
นิวซีแลนด์ ดินแดนแห่งความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ ที่ยิ่งใหญ่เกินคำบรรยาย เกาะเหนือและเกาะใต้ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการขับรถเที่ยว ตามเส้นทางตระการตาแห่งยอดเขา ทะเลสาบ และแหล่งธรรมชาติมากมาย มีเมืองที่น่าสนใจกำลังเรียกร้องให้ไปเยือน ณ ดินแดน แห่งนี้ ที่ได้รับการขนานนามว่า “อังกฤษนอกเกาะอังกฤษ”
การขับรถเที่ยวนิวซีแลนด์ทำได้แบบง่ายๆ สไตล์ชิลๆ สามารถกำหนดเส้นทางได้เองโดยมีโปรแกรมแนะนำให้ทั้งในเกาะเหนือและเกาะใต้ เพียงแต่จ่ายค่าเช่ารถ ขับรถเที่ยวจากเกาะเหนือ-ใต้ ไปถึงที่ไหน ก็ทิ้งรถไว้ที่นั่น
แถมบางช่วงก็เดินทางได้โดยไม่ต้อง ห่วงรถเดินทางด้วยเครื่องบินเฮลิคอป เตอร์ ชมหิมะ น้ำแข็งบนเทือกเขาสูงและชมชายฝั่งมหาสมุทร แปซิฟิกได้ด้วย
การเดินทางจะเริ่มจากเกาะเหนือหรือจะไปแต่เฉพาะเกาะใต้ก็ได้ ถ้าเกาะเหนือ จะเริ่มจากเมืองโอกแลนด์ (Auckland) เมืองที่ใหญ่ที่สุดของเกาะเหนือ ศูนย์กลางพาณิชยกรรมและการค้าที่สำคัญที่สุดของประเทศนิวซีแลนด์ ได้รับสมญานามว่า เมืองแห่งการแล่นเรือใบ (City of Sails) มีอ่าวจอดเรือที่สมบูรณ์แบบ ชมสะพานฮาเบอร์และท่าจอดเรือยอชท์ที่สวยงาม ชมทัศนียภาพของเมือง โอกแลนด์บนยอดเขาอีเดน (Mt. Eden) ที่เกิดจากปล่องภูเขาไฟที่ดับแล้ว ซึ่งเป็นจุดชมวิวที่ดีที่สุด




“กีวี” เป็นชื่อนกชนิดหนึ่งที่ออกหากินเวลากลางคืน พบได้ที่นิวซีแลนด์ประเทศเดียวเท่านั้น นกกีวีเป็นนกแต่บินไม่ได้ ขนาดพอๆ กับแม่ไก่ มีปากเหมือนหลอดดูดน้ำ เพื่อจิ้มลงไปในดินใช้ดูดแมลงหรือไส้เดือน นกกีวีตัวผู้จะเป็นผู้ฟักไข่ อยากเห็นนกกีวีต้องไปดูที่ “บ้านกีวี” ที่จัดเตรียมไว้เท่านั้น ไม่สามารถพบเห็นได้ทั่วๆ ไป

ไปชมสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติที่คุณจะไม่มีวันลืม เช่น บ่อน้ำพุร้อน บ่อโคลนเดือด ภูเขาไฟที่ยังไม่ดับ เมืองโรโตรัว (Rotorua) จึงเป็นเมืองท่องเที่ยวที่โด่งดังและมีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของเกาะเหนือ เมืองแห่งน้ำแร่ น้ำพุร้อน และบ่อโคลนเดือด ตั้งอยู่ริมทะเลสาบโรโตรัว ซึ่งได้รับสมญานามว่า Sulphur City
ที่อุทยานน้ำพุร้อน Te Puia ศูนย์อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองชาวเมารี ชมงานศิลปหัตถกรรมการแกะสลักเครื่องไม้และการทอเครื่อง นุ่งห่มจากต้นป่านและความเป็นอยู่ในอดีตของชาวเมารี ชมบ่อโคลนเดือดธรรมชาติและน้ำพุร้อนใต้ดิน “พูโฮโต” ที่ไม่เคยหลับไหลมานานนับพันปี
เมื่อขับรถมาถึงเกาะใต้ หรือเลือกขับที่เกาะใต้ จะได้พบกับบรรยากาศสุดโรแมนติกของเมืองไคร้สท์เชิร์ช (Christchurch) เมืองที่ขึ้นชื่อว่าคล้ายอังกฤษมากที่สุดในโลก ไคร้สท์เชิร์ชในเกาะใต้ สัมผัสความงดงามของสถาปัตยกรรมสมัยวิคตอเรียที่จัตุรัสกลางเมือง ก่อนเดินทางสู่อุทยานแห่งชาติเมาท์คุก หรือจะเลือกขับต่อไปยังเมืองควีนส์ทาวน์ เพชรเม็ดงามและเมืองกิจกรรมผจญภัยต่างๆ ของเกาะใต้
เดินทางผ่านทุ่งราบแคนเทอร์เบอร์รี่ แหล่งเพาะพันธุ์แกะและวัวที่สำคัญของเกาะใต้ เดินทางผ่านเมืองแอชเบอร์ตัน เจอร์ราดีน และแฟร์รี่ เข้าสู่ทะเลสาบเทคาโป ชื่นชมทัศนียภาพยามเช้าอันสวยงามของทะเลสาบเทคาโป ทะเลสาบสีเทอร์ควอยซ์ ซึ่งเกิดจากการละลายของหิมะบนเทือกเขา ไหลลงสู่ทะเลสาบจนทำให้น้ำทะเลสาบใสเป็นสีฟ้า ถ่ายรูปคู่กับโบสถ์เล็กๆ ริมทะเลสาบและอนุสาวรีย์สุนัขต้อนแกะ
นักท่องเที่ยวสามารถไปได้ทุกซอกทุกมุม จะขึ้นรถโค้ชหรือรถประจำทางก็ไปได้ทุกเมือง เยี่ยมชมจุดต่างๆ ได้บ่อยและมากเท่าที่ต้องการ ในแพ็คเกจจะพานั่งรถโค้ชท่องเที่ยวไปตามจุดไฮไลท์ต่างๆ ในเมืองแบบไม่จำกัดเที่ยว นั่งเรือเฟอร์รี่จากท่าเรือไปยังเมืองเล็กต่างๆ มีบริการรถรับส่งจากสนามบินไปยังบ้านพักเยาวชน พร้อมให้ที่พักฟรีอีกสองคืนในห้องรวมด้วย
จากการสำรวจพบว่า นิวซีแลนด์เป็นจุดหมายที่ “คนรุ่นใหม่” ที่มีการศึกษาเลือกที่จะเป็นจุดท่องโลกแบบ “อิสระ” ด้วยตนเอง



นิวซีแลนด์ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ ทางทิศตะวันออกของออสเตรเลีย มีเกาะเหนือเกาะใต้ ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูงและเนินเขา เกาะเหนือมีเขตภูเขาไฟและทะเลสาบในใจกลางเกาะ มีน้ำพุร้อนและบ่อโคลนเดือด เกาะใต้มีเทือกเขาสูง เรียกว่า เซาธ์เทิร์นแอลป์ พาดผ่านกลาง มีฟยอร์ด ธารน้ำแข็ง
เมืองหลวง กรุงเวลลิงตัน
ภาษา ภาษาอังกฤษและภาษาเมารี
เงินตรา 1 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ ประมาณ 26 บาท (สิงหาคม 2550)
บัตรเครดิต ใช้ได้ตามร้านค้าทั่วไป รับบัตรเครดิตหลักๆ ทุกประเภท
โทรศัพท์ รหัสโทรศัพท์ +64 โทร กลับเมืองไทยควรใช้การ์ดโฟน
เวลา เร็วกว่าไทย 5 ชั่วโมง เดือนตุลาคม-มีนาคม เร็วกว่าไทย 6 ชั่วโมง เนื่องจากมี Daylight Savings Time
น้ำประปา สะอาดดื่มได้จากท่อน้ำ
อากาศ มี 4 ฤดู คือ ฤดูร้อน (ธันวาคม-กุมภาพันธ์) อบอุ่นเหมาะสำหรับการเล่นกีฬาทางน้ำ ฤดูใบไม้ร่วง (มีนาคม-พฤษภาคม) เหมาะสำหรับกิจกรรมกลางแจ้งฤดูหนาว (มิถุนายน-สิงหาคม) เหมาะกับการเล่นสกีและหิมะ และ ฤดูใบไม้ผลิ (กันยายน-พฤศจิกายน) อากาศดีเยี่ยมและน่าเที่ยวที่สุด

กาลิเลโอ กาลิเลอี นักวิทยาศาสตร์ ผู้เป็นบิดาแห่งวิทยาศาสตร์

กาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei) เกิด ณ เมืองปิซา ประเทศอิตาลี ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2107 (ค.ศ. 1564) – เสียชีวิต ณ เมืองอาร์เซทิ (Arcetri) ฟลอเรนซ์ ในวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2185 (ค.ศ. 1642) มีบิดาชื่อ วินเซนซิโอ กาลิเลอิ ซึ่งมีอาชีพเป็นนักดนตรี และมีมารดาชื่อ จูเลีย กาลิเลอิ กาลิเลโอ เป็นนักวิทยาศาสตร์ และยัง ถูกขนานนามในชื่อต่างๆ เช่น "father of modern astronomy" (บิดาแห่งวิชาดาราศาสตร์สมัยใหม่), "father of modern physics" (บิดาแห่งวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่) หรือ "father of science" (บิดาแห่งวิทยาศาสตร์) เป็นผู้ค้นพบ ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์มากมาย เช่น "กฏแห่งการแกว่งของลูกตุ้ม" และ "กฏการตกของวัตถุ"



เหตุที่กาลิเลโอได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ เพราะเขาและโยฮันส์ เคปเลอร์ เป็นผู้ที่ก่อให้เกิด การปฏิวัติวิทยาศาสตร์ (Scientific revolution) ขึ้น จริงอยู่ที่ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของมนุษยชาติ เราเรียนรู้ที่จะสร้างอารยธรรมขึ้นมา จากการค้นคว้า ทดลอง และจดบันทึกองค์ความรู้สืบทอดต่อๆกันมา จากรุ่นสู่รุ่นตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ หากพิจารณาจริงๆกระบวนการดังกล่าวก็มีขั้นตอนครบถ้วนตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่สอดคล้องกับในแบบเรียนทุกประการ แล้วจะนับกาลิเลโอจะเป็นบิดาของวิทยาศาสตร์ ได้อย่างไร ในเมื่อเขาคงก็ไม่ได้เป็นคนแรกแน่ๆที่เริ่มใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในโลกใบนี้ ประเด็นอันละเอียดอ่อนนี้คงจะเป็นประเด็นเปิดให้ถกเถียง กันอีกยาว แต่หากเรามองอีกแง่มุมหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ชัดเจนกว่า คือจากมุมของการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ โดยนับการตีพิมพ์หนังสือPhilosophiae Naturalis Principia Mathematica ของนิวตันเป็นการสิ้นสุดการปฏิวัติ กาลิเลโอก็นับว่าเป็นบิดาของวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง เพราะงานในยุคนั้นหลายๆชิ้นที่มีส่วนสำคัญต่อ การปฏิวัติวิทยาศาสตร์ มีเพียงงานของกาลิเลโอเพียงคนเดียวที่โดดเด่นที่สุดในแง่ของการใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์

อิทธิพลการแสวงหาความรู้ที่มีแม่แบบจากหนังสือ The Elements ของ Euclidทรงพลังมากในสมัยของกาลิเลโอ เพราะเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าการวัดจะไม่นำเราคลาดเคลื่อนจากความแท้จริง ยกตัวอย่างเช่น เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสามด้านของสามเหลี่ยมมุมฉากจะต้องสอดคล้องกับทฤษฎีบทพีทาโกรัสทุกรูป ? ความจริงข้อนี้คงไม่สามารถหาได้จากการทดลองสร้างสามเหลี่ยมมุมฉากขึ้นมาเป็นหมื่นๆรูปแล้ววัด? หากเราทดลองกับรูปสามเหลี่ยมุมฉากจำนวน 105รูปแล้วพบว่าจริง เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะจริงกับรูปที่105 + 1จะจริงด้วย? ดังนั้นเป็นที่น่าสงสัย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยของกาลิเลโอ) ว่าความจริงที่หาได้จากการทดลองและการวัด กับความจริงที่หาได้การอนุมาน (deduction) จากสิ่งที่ทุกคนยอมรับว่าจริงอยู่แล้ว อย่างไหนเป็นสิ่งที่น่าเชื่อถือกว่ากัน ซึ่งแน่นอนที่ความจริงแบบเรขาคณิตของEuclid ที่รู้จักกันดีว่าเป็นเรขาคณิตของ"วงเวียนและสันตรง" (สันตรงคือไม้บรรทัดที่ไม่มีเสกลที่ใช้ขีดเส้นตรงได้เพียงอย่างเดียว=ไม่มีการวัดความยาว)
ดูจะมีอิทธิพลเหนือกว่าความรู้ที่ได้จากการสังเกต ทดลอง และวัดค่าเป็นตัวเลขออกมาเป็นตัวเลขในแบบของกาลิเลโอ แต่ข้อมูลจากการสังเกต ทดลองวัดค่าเป็นตัวเลขในงานกฏการตกของวัตถุมีส่วนสำคัญที่ทำให้นิวตันค้นพบ

กฏแรงของโน้มถ่วง (GmM/r(r)) เป็นครั้งแรก และงานที่ได้จากการทดลอง ทางกลศาสตร์ของกาลิเลโอก็เป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้นิวตันสามารถสรุปกฏการเคลื่อนที่ของนิวตัน 3 ข้อ ออกมาได้ ซึ่งกฏทั้งสี่ข้อนี้ คือ ชัยชนะของวิทยาศาสตร์ที่เหนือกว่า กระบวนการแสวงหาความรู้เดิมที่ได้รับอิทธิพลจากนักปราชญ์ชาวกรีกซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูงมาเป็นพันๆปี
มีข้อสังเกตว่างานที่ใช้ตัดสินชี้ขาดชัยชนะของการปฏิวัติวิทยาศาสตร์น้ำหนักน่าจะอยู่ที่งานของเคปเลอร์ที่เป็นถือข้อพิสูจน์ กฏแรงของโน้มถ่วงที่นิวตันพิสูจน์ได้เป็นครั้งที่สอง มากกว่างานของกาลิเลโอ แต่งานของเคปเลอร์อาจไม่ได้มีความหมายตรงกับ กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ตามมาตรฐานทั่วไป เราจึงไม่นับว่าเคปเลอร์เป็นบิดาวิทยาศาสตร์
กาลิเลโอ นำเรื่อง ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล



งานเขียนของกาลิเลโอ
Two New Sciences, ค.ศ. 1638 Lowys Elzevir (Louis Elsevier) Leiden (ในภาษาอิตาเลียน , Discorsi e Dimostrazioni Matematiche, intorno á due nuoue scienze Leida, Appresso gli Elsevirii 1638)
Letters o­n Sunspots
The Assayer (ในภาษาอิตาเลียน, Il Saggiatore)
Dialogue Concerning the Two Chief World Systems, ค.ศ. 1632 (ในภาษาอิตาเลียน, Dialogo dei due massimi sistemi del mondo)
The Starry Messenger, ค.ศ. 1610 Venice (ในภาษาลาติน, Sidereus Nuncius)
Letter to Grand Duchess Christina
ลำดับเวลา
- ปี พ.ศ. 2107 (ค.ศ. 1564) - วันที่ 15 กุมภาพันธ์ กาลิเลโอ เกิด ณ เมืองปิซา ประเทศอิตาลี
- ปี พ.ศ. 2117 (ค.ศ. 1574) - ย้ายที่อยู่ไปยังเมืองฟลอเรนซ์ และเข้าศึกษาต่อที่โบสถ์วอลลอมโบรซา
- ปี พ.ศ. 2124 (ค.ศ. 1581) - เข้าศึกษาในคณะแพทย์ศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยปิซา
- ปี พ.ศ. 2126 (ค.ศ. 1583) - ได้ค้นพบ กฏการแกว่งของลูกตุ้ม จากการแกว่งของโคมไฟ ณ มหาวิทยาลัยปิซา
- ปี พ.ศ. 2127 (ค.ศ. 1584) - มีทุนทรัพย์ไม่พอในการเรียน จึงลาออกจากมหาวิทยาลัยปิซา และกลับมายังเมืองฟลอเรนซ์
- ปี พ.ศ. 2132 (ค.ศ. 1589) - ได้รับตำแหน่งเป็นอาจารย์วิชาคณิตศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยปิซา
- ปี พ.ศ. 2133 (ค.ศ. 1590) - ได้ค้นพบ กฏการตกของวัตถุ โดยมีการทดลองที่ หอเอนเมืองปิซา
- ปี พ.ศ. 2135 (ค.ศ. 1592) - ได้เป็นอาจารย์วิชาคณิตศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยปาดัว
- ปี พ.ศ. 2142 (ค.ศ. 1599) - เริ่มชีวิตคู่ โดยแต่งงานกับ มารีนา กัมเบอร์
- ปี พ.ศ. 2152 (ค.ศ. 1609) - กาลิเลโอ ประดิษฐ์กล้องโทรทัศน์
- ปี พ.ศ. 2153 (ค.ศ. 1610) - ในเดือน มกราคม ได้ค้นพบดาวบริวารของดาวพฤหัสบดี และได้ออกหนังสือชื่อ The Starry Messenger และยังได้กลับมาเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยปิซาอีกครั้ง ด้วยความอนุเคราะห์ของ ดยุคเมดิชี
- ปี พ.ศ. 2185 (ค.ศ. 1642) - วันที่ 8 มกราคม กาลิเลโอ เสียชีวิตท่ามกลางลูกศิษย์ไม่กี่คน

สุนทรภู่


ประวัติสุนทรภู่
วัยเด็ก (พ.ศ.๒๓๒๙ - ๒๓๔๙) แรกเกิด - อายุ ๒๐ ปี
พระสุนทรโวหาร (ภู่) มีนามเดิมว่า ภู่ เป็นบุตรขุนศรีสังหาร (พลับ) และแม่ช้อย เกิดในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันจันทร์ เดือนแปด ขึ้นหนึ่งค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช ๑๑๔๘ เวลาสองโมงเช้า ตรงกับวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๒๙ ที่บ้านใกล้กำแพงวังหลัง คลองบางกอกน้อย
สุนทรภู่เกิดได้ไม่นาน บิดามารดาก็หย่าจากกัน ฝ่ายบิดากลับไปบวชที่บ้านกร่ำ เมืองแกลง ส่วนมารดา คงเป็นนางนมพระธิดา ในกรมพระราชวังหลัง (กล่าวกันว่าพระองค์เจ้าจงกล หรือเจ้าครอกทองอยู่) ได้แต่งงานมีสามีใหม่ และมีบุตรกับสามีใหม่ ๒ คน เป็นหญิง ชื่อฉิมและนิ่ม ตัวสุนทรภู่เองได้ถวายตัว เป็นข้าในกรมพระราชวังหลังตั้งแต่ยังเด็ก
สุนทรภู่เป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน สันทัดทั้งสักวาและเพลงยาว เมื่อรุ่นหนุ่ม เกิดรักใคร่ชอบพอ กับนางข้าหลวง ในวังหลัง ชื่อแม่จัน ครั้นความทราบถึง กรมพระราชวังหลัง พระองค์ก็กริ้ว รับสั่งให้นำสุนทรภู่ และจันไปจองจำทันที แต่ทั้งสองถูกจองจำได้ไม่นาน
เมื่อกรมพระราชวังหลังเสด็จทิวงคตในปี พ.ศ. ๒๓๔๙ ทั้งสองก็พ้นโทษออกมา เพราะเป็นประเพณีแต่โบราณ ที่จะมีการ ปล่อยนักโทษ เพื่ออุทิศส่วนพระราชกุศลแด่ พระมหากษัตริย์หรือพระราชวงศ์ ชั้นสูงเมื่อเสด็จสวรรคต หรือทิวงคตแล้ว แม้จะพ้นโทษ สุนทรภู่และจันก็ยังมิอาจสมหวังในรัก สุนทรภู่ถูกใช้ไปชลบุรี ดังความตอนหนึ่งในนิราศเมืองแกลงว่า
"จะกรวดน้ำคว่ำขันจนวันตาย แม้เจ้านายท่านไม่ใช้แล้วไม่มา"
แต่เจ้านายท่านใดใช้ไป และไปธุระเรื่องใดไม่ปรากฎ อย่างไรก็ดี สุนทรภู่ได้เดินทางเลยไปถึงบ้านกร่ำ เมืองแกลง จังหวัดระยอง เพื่อไปพบบิดาที่จากกันกว่า ๒๐ ปี สุนทรภู่เกิดล้มเจ็บหนักเกือบถึงชีวิต กว่าจะกลับมากรุงเทพฯ ก็ล่วงถึงเดือน ๙ ปี พ.ศ.๒๓๔๙

วัยฉกรรจ์ (พ.ศ.๒๓๕๐ - ๒๓๕๙) อายุ ๒๑ - ๓๐ ปี
หลังจากกลับจากเมืองแกลง สุนทรภู่ได้เป็นมหาดเล็กของพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ พระโอรสองค์เล็ก ของกรมพระราชวังหลัง ซึ่งทรงผนวชอยู่ที่วัดระฆัง ในช่วงนี้ สุนทรภู่ก็สมหวังในรัก ได้แม่จันเป็นภรรยา
สุนทรภู่คงเป็นคนเจ้าชู้ แต่งงานได้ไม่นาน ก็เกิดระหองระแหงกับแม่จัน ยังไม่ทันคืนดี สุนทรภู่ก็ต้อง ตามเสด็จพระองค์เจ้า ปฐมวงศ์ไปนมัสการพระพุทธบาท จ.สระบุรี ในวันมาฆบูชา สุนทรภู่ได้แต่งนิราศ เรื่องที่สองขึ้น คือ นิราศพระบาท สุนทรภู่ตามเสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ ในเดือน ๓ ปี พ.ศ.๒๓๕๐
สุนทรภู่มีบุตรกับแม่จัน ๑ คน ชื่อหนูพัด แต่ชีวิตครอบครัวก็ยังไม่ราบรื่นนัก ในที่สุดแม่จันก็ร้างลาไป พระองค์เจ้าจงกล (เจ้าครอก ทองอยู่) ได้รับอุปการะหนูพัดไว้ ชีวิตของท่านสุนทรภู่ช่วงนี้คงโศกเศร้ามิใช่น้อย
ประวัติชีวิตของสุนทรภู่ในช่วงปี พ.ศ.๒๓๕๐ - ๒๓๕๙ ก่อนเข้ารับราชการ ไม่ชัดแจ้ง แต่เชื่อว่าท่าน หนีความเศร้าออกไป เพชรบุรี ทำไร่ทำนาอยู่กับหม่อมบุญนาคในพระราชวังหลัง ดังความตอนหนึ่งในนิราศ เมืองเพชร ที่ท่านย้อนรำลึกความหลัง สมัยหนุ่ม ว่า
"ถึงต้นตาลบ้านคุณหม่อมบุญนาค เมื่อยามยากจนมาได้อาศัย
มารดาเจ้าคราวพระวังหลังครรไล มาทำไร่ทำนา ท่านการุญ"

รับราชการครั้งที่ ๑ (พ.ศ.๒๓๕๙ - ๒๓๖๗) อายุ ๓๐ - ๓๘ ปี
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเป็นมหากวีและทรงสนพระทัยเรื่องการละครเป็นอย่างยิ่ง ในรัชสมัยของ พระองค์ ได้กวดขันการฝึกหัดวิธีรำจนได้ที่ เป็นแบบอย่างของละครรำมาตราบทุกวันนี้ พระองค์ยังทรงพระราชนิพนธ์บทละคร ขึ้นใหม่อีกถึง ๗ เรื่อง มีเรื่องอิเหนาและเรื่องรามเกียรติ์ เป็นต้น
มูลเหตุที่สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการ น่าจะเนื่องมาจากเรื่องละครนี้เอง ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับกรณีทอดบัตรสนเท่ห์ เพราะจากกรณี บัตรสนเท่ห์นั้น คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องถูกประหารชีวิตถึง ๑๐ คน แม้แต่ นายแหโขลน คนซื้อกระดาษดินสอ ก็ยังถูกประหารชีวิต ด้วย มีหรือสุนทรภู่จะรอดชีวิตมาได้ นอกจากนี้ สุนทรภู่เป็นแต่เพียงไพร่ มีชีวิตอยู่นอกวังหลวง ช่วงอายุก่อนหน้านี้ก็วนเวียน และเวียนใจอยู่กับเรื่องความรัก ที่ไหนจะมี เวลามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมือง
(กรณีวิเคราะห์นี้ มิได้รับรองโดยนักประวัติศาสตร์ เป็นความเห็นของคุณปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ เขียนไว้ในหนังสือ "เที่ยวไปกับสุนทรภู่" ซึ่งเห็นว่ามูลเหตุที่สุนทรภู่ได้เข้า รับราชการ น่าจะมาจากเรื่องละครมากกว่าเรื่องอื่น ซึ่งข้าพเจ้า พิเคราะห์ดูก็เห็นน่าจะจริง ผิดถูกเช่นไรโปรดใช้วิจารณญาณ)
อีกคราวหนึ่งเมื่อทรงพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ตอนศึกสิบขุนสิบรถ ทรงพระราชนิพนธ์บทชมรถทศกัณฐ์ว่า

"๏ รถที่นั่ง บุษบกบัลลังก์ตั้งตระหง่าน
กว้างยาวใหญ่เท่าเขาจักรวาล ยอดเยี่ยมเทียมวิมานเมืองแมน
ดุมวงกงหันเป็นควันคว้าง เทียมสิงห์วิ่งวางข้างละแสน
สารถีขี่ขับเข้าดงแดน พื้นแผ่นดินกระเด็นไปเป็นจุณ"
ทรงพระราชนิพนธ์มาได้เพียงนี้ ทรงนึกความที่จะต่อไปอย่างไรให้สมกับที่รถใหญ่โตปานนั้นก็นึกไม่ออก
จึงมีรับสั่งให้สุนทรภู่แต่งต่อ สุนทรภู่แต่งต่อว่า

"นทีตีฟองนองระลอก กระฉอกกระฉ่อนชลข้นขุ่น
เขาพระเมรุเอนเอียงอ่อนละมุน อนนต์หนุนดินดานสะท้านสะเทือน
ทวยหาญโห่ร้องก้องกัมปนาท สุธาวาสไหวหวั่นลั่นเลื่อน
บดบังสุริยันตะวันเดือน คลาดเคลื่อนจัตุรงค์ตรงมา"

กลอนบทนี้เป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยยิ่งนัก นับแต่นั้นก็นับสุนทรภู่เป็นกวีที่ปรึกษาด้วย
อีกคนหนึ่ง ทรงตั้งเป็นที่ขุนสุนทรโวหาร พระราชทานที่ให้ปลูกเรือนที่ท่าช้าง และให้มีตำแหน่งเฝ้าฯ เป็นนิจ
แม้เวลาเสด็จประพาสก็โปรดฯ ให้สุนทรภู่ลงเรือพระที่นั่งไปด้วย เป็นพนักงานอ่านเขียนในเวลาทรงพระราชนิพนธ์บทกลอน

ออกบวช (พ.ศ.๒๓๖๗ - ๒๓๘๕) อายุ ๓๘ - ๕๖ ปี

วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๓๖๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต นอกจากแผ่นดินและผืนฟ้าจะร่ำไห้ ไพร่ธรรมดาคนหนึ่งที่มีโอกาสสูงสุดในชีวิต ได้เป็นถึงกวีที่ปรึกษา ในราชสำนักก็หมดวาสนาไปด้วย

"ทรงขัดเคืองสุนทรภู่ว่าแกล้งประมาทอีกครั้งหนึ่ง แต่นั้นก็ว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมึนตึงต่อสุนทรภู่มา จนตลอดรัชกาลที่ ๒ ... "

จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ เพียงคิดได้ด้วยเฉพาะหน้าตรงนั้นก็ตาม สุนทรภู่ก็ได้ทำการไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัย ประกอบกับ ความอาลัยเสียใจหนักหนาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สุนทรภู่ จึงลาออกจากราชการ และตั้งใจบวชเพื่อสนอง พระมหากรุณาธิคุณ สุนทรภู่ได้เผยความในใจนี้ ในตอนหนึ่ง ของนิราศภูเขาทอง ว่า

"จะสร้างพรตอตส่าห์ส่งบุญถวาย ประพฤติฝ่ายสมถะทั้งวสา เป็นสิ่งของฉลองคุณมุลิกา ขอเป็นข้าเคียงพระบาททุกชาติไป"

เมื่อบวชแล้ว ท่านได้ออกจาริกแสวงบุญไปยังที่ต่างๆ เล่ากันว่า ท่านได้เดินทางไปยังหัวเมืองต่างๆ หลายแห่ง เช่นเมืองพิษณุโลก เมืองประจวบคีรีขันธ์ จนถึงเมืองถลางหรือภูเก็ต และเชื่อกันว่า ท่านคงจะเขียนนิราศเมืองต่างๆ นี้ไว้อย่างแน่นอน เพียงแต่ ยังค้นหาต้นฉบับไม่พบ

ชีพจรลงเท้าสุนทรภู่อีกครั้ง เมื่อท่านเกิดไปสนใจเรื่องเล่นแร่แปรธาตุและยาอายุวัฒนะ ถึงแก่อุตสาหะ ไปค้นหา ทำให้เกิด นิราศวัดเจ้าฟ้า และนิราศสุพรรณ ปี พ.ศ.๒๓๘๓ สุนทรภู่มาจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม ท่านอยู่ที่นี่ได้ ๓ พรรษา คืนหนึ่งเกิดฝันร้าย ว่าชะตาขาด จะถึงแก่ชีวิต จึงได้แต่งเรื่องรำพันพิลาป ซึ่งทำให้ทราบเรื่องราว ในชีวิตของท่านอีก เป็นอันมาก จากนั้นจึงลาสิกขาบทเมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๕ เพื่อเตรียมตัวจะตาย



รับราชการครั้งที่ ๒ (พ.ศ.๒๓๘๕ - ๒๓๙๘) อายุ ๕๖ - ๖๙ ปี

เมื่อสึกออกมา สุนทรภู่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งทรง พระยศเป็นสมเด็จพระเจ้า น้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ โปรดอุปถัมภ์ให้สุนทรภู่ ไปอยู่พระราชวังเดิมด้วย ต่อมา กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ทรงพระเมตตา อุปการะสุนทรภู่ด้วย กล่าวกันว่า ชอบพระราชหฤทัย ในเรื่องพระอภัยมณี จึงมีรับสั่งให้สุนทรภู่แต่งต่อ นอกจากนี้ สุนทรภู่ยังแต่งเรื่อง สิงหไตรภพถวายกรมหมื่น อัปสรฯ อีกเรื่องหนึ่ง

แม้สุนทรภู่จะอายุมากแล้ว แต่ท่านก็ยังรักการเดินทางและรักกลอนเป็นที่สุด ท่านได้แต่งนิราศไว้อีก ๒ เรื่องคือนิราศพระประธม และนิราศเมืองเพชร สุนทรภู่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "พระสุนทรโวหาร" ในปี พ.ศ.๒๓๙๔ ขณะที่ท่านมีอายุ ได้ ๖๕ ปีแล้ว ท่านถึงแก่อนิจกรรมเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๘ รวมอายุได้ ๖๙