วันพุธที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ศรีปราชญ์

ศรีปราชญ์

ตามหลักฐานทางประวัตศาสตร์พบว่า ศรีปราชญ์นี้เป็นเรื่องจริง ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ( พ.ศ.2199 - 2231) กล่าวกันว่าราชสำนักของพระองค์กลายเป็นศูนย์รวมของกวีมากมาย แม้แต่พระองค์เองก็ทรงนิพนธ์งานกวีเกี่ยวกับประวัติวรรณคดีไทย และทรงโปรดปรานงานด้านวรรณกรรมมาก ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะสร้างสรรค์โดยกวีเอกของพระองค์ เช่น พระมหาราชครู พระโหราธิบดี และศรีปราชญ์ สันนิษฐานว่า ศรีปราชญ์ คงจะเกิดในปี พ.ศ.2196 หรือ 3 ปี หลังจากที่สมเด็จพระนารายณ์เสด็จขึ้น ครองราชย์แทนพระเจ้าศรีสุธรรมราชา ผู้ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระเจ้าอาของพระองค์ศรีปราชญ์ไม่ใช่ชื่อจริงของท่านหากแต่เป็นพระราชทินนามที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงพระราชทาน ให้เป็นการตอบแทนความดีความชอบในด้านงานกวี ชื่อจริงนั้นไม่ปรากฏ ทราบแต่เพียงว่าท่าเป็นบุตรชายของพระโหราธิบดีผู้ซึ่งแต่งหนังสือเล่มแรกที่ชื่อว่า “ จินดามณี ” หนังสือเล่มนี้สมเด็จพระนารายณ์ทรงรับส่งให้แต่งขึ้นเพื่อถ่วงดุลอิทธิพลของวัฒนธรรมฝรั่งเศส

ศรีปราชญ์ได้รับอิทธิพลทางด้านกวีจากบิดา ดังนั้นจึงส่อแววว่ามีปฏิภาณด้านกวีตั้งแต่ยังเด็ก ในคืน วันหนึ่ง เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ทรงนิพนธ์โคลงอันไพเราะขึ้น 2 บท แต่ไม่ทันจะทรงนิพนธ์ต่อให้จบบท ด้วยมีพระราชภารกิจด่วนเข้ามาแทรกเสียก่อน จึงโปรดให้พระโหราธิบดีนำเอาไปแต่งต่ออีก 2 บาท เพื่อให้จบสมบูรณ์หนึ่งบท แล้วกลับมาให้พระองค์ในวันรุ่งขึ้น
พระโหราธิบดี พยายามอย่างดีที่สุดเพื่อแต่งโคลงอันไพเราะนั้นให้จบ แต่ทุกครั้งที่พยายามก็คิด ไม่ออก ดังนั้นท่านจึงทิ้งไว้อย่างนั้นก่อนแล้วไปรับประทานอาหารเช้าตามปกติ อย่างไรก็ตามเมื่อท่านจะนำมา แต่งต่อ ปรากฏว่าอีก 2 บาทสุดท้ายนั้นได้มีผู้เขียนต่อให้แล้ว ท่านประหลาดใจมากและถามหาผู้ที่แต่งต่ออีก 2 บาทนั้นซึ่งไพเราะมากเช่นกัน



หลังจากทราบความจริง ท่านก็แอบชมความฉลาดของบุตรชายอยู่ในใจ และคิดว่าบุตรของท่านจะมี อนาคตที่ดี หลังจากได้รับโคลงจากพระโหราธิบดีแล้ว สมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ทรงพอพระทัยมาก แต่ ก็ทรงทราบได้ทันทีว่า 2 บาทหลังนั้นไม่น่าจะแต่งโดยคนแก่อย่างเช่นพระโหราธิบดี ดังนั้นพระองค์จึงตรัส ถามความจริง และหลังจากได้ทรงทราบความจริง ก็ทรงระแวงว่าลูกชายของพระโหราธิบดีผู้นี้ อาจจะมีอะไร ละลาบละล้วงแอบแฝงกับสตรีฝ่ายใน จึงตรัสถามว่าบุตรชายของพระโหราธิบดีอายุเท่าไร และก็ต้องทรง ประหลาดใจเมื่อได้รับการกราบทูลให้ทรงทราบว่า เด็กคนนั้นมีอายุเพียง 9 ขวบเท่านั้นเอง พระองค์จึงเรียก ตัวศรีปราชญ์เข้าเฝ้าในทันที แล้วทรงแต่งตั้งให้ทำงานในราชสำนักเหมือนบิดาของตน และถึงแม้ว่า พระโหราธิบดี จะมีความถาคภูมิใจกับอนาคตอันสดใสของบุตรชาย แต่ท่านก็ยังวิตกกังวลว่าในอนาคต ศรีปราชญ์อาจจะเผลอไผลจนกระทบกระเทือกพระราชหฤทัยของสมเด็จพระนารายณ์ หรือเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ท่านอื่น ๆ ก็ได้ด้วยความทระนงในความฉลาดของตน ศรีปราชญ์อาจจะหลงตนเองก็เป็นได้ ดังนั้น พระโหราธิบดีจึงกราบทูลสมเด็จพระนารายณ์ขอให้โปรดพระราชทานอภัยโทษไว้ถ้าหากว่าจะต้องราชทัณฑ์ ถึงประหารชีวิตขอให้พิจารณาลดหย่อนเพียงเนรเทศเท่านั้น พระองค์ก็ทรงยินยอม และให้การเลี้ยงดูดุจดังพระโอรส หลังจากรับใช้เบื้องพระยุคลบาทมาพอสมควรท่านก็ได้รับพระราชทินนามว่า “ ศรีปราชญ์ ” เป็นรางวัลสำหรับผลงานด้านกวีที่ยอดเยี่ยม

เพียงชั่วระยะเวลาไม่นานชื่อเสียงของศรีปราชญ์ก็โด่งดังไปทั่วราชอาณาจักร และตามวิสัยของคนหนุ่มย่อมหนีความรักไปไม่พ้น และในฝ่ายในเองก็มีหญิงสาวเป็นจำนวนมากที่รับใช้ พระบรมวงศ์ศานุวงศ์ และบางคนก็เป็นที่ต้องตาต้องใจของศรีปราชญ์ เมื่อเป็นที่ไว้วางพระทัยของสมเด็จพระนารายณ์ ศรีปราชญ์สามารถเข้านอกออกในได้โดยสะดวก และด้วยเหตุนี้จึงมีโอกาสเกี๊ยวพาราสีพระสนมเอกของสมเด็จพระนารายณ์ นามว่า“ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ”
อันว่าท้าวศรีจุฬาลักษณ์นั้นเป็นสตรีที่มีหน้าตางดงามยิ่งนักเป็นที่สบพระราชหฤทัยแก่ สมเด็จพระนารายณ์ ศรีปราชญ์ก็ชอบนางอยู่แม้จะรู้ตัวดีว่าใครก็ตามที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระสนมของพระมหากษัตริย์จะมีโทษถึงประหารชีวิต ศรีปราชญ์ได้แต่งโคลงเกี๊ยวพาราสีนางโดยที่ไม่ทราบว่าท้าวศรีจุฬาลักษณ์นั้นมีการติดต่อฉันชู้สาวกับพระอนุชาของสมเด็จพระนารายณ์ภายหลังนางเกิดตั้งครรภ์ สมเด็จนารายณ์ทรงกริ้วมากและรับสั่งให้สำเร็จโทษตามกฎมนเทียรบาล



และถึงแม้ว่าศรีปราชญ์จะไม่ได้มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับนาง แต่ก็แสดงความประพฤติอันไม่เหมาะสมต่อพระสนมของพระมหากษัตริย์ โดยการเขียนโคลงเกี๊ยวพาราสีนางความประพฤติของศรีปราชญ์เป็นการล่วงละเมิดกฎมนเทียรบาล ซึ่งห้ามการกระทำเช่นนั้นและผู้ล่วงละเมิดจะต้องมีโทษถึงประหารชีวิต ศรีปราชญ์เองไม่ต้องโทษประหารก็เพราะว่าสมเด็จพระนารายณ์ทรงรักษาสัญญาที่เคยให้ไว้แก่ พระโหราธิบดี แต่ศรีปราชญ์เองก็ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงโทษสถานเบาไปได้ศรีปราชญ์จึงถูกเนรเทศจากกรุงศรีอยุธยา ไปยังเมืองนครศรีธรรมราชที่ซึ่งเขาสามารถแสดงทักษะด้านกวีได้อีกเช่นกัน เพราะว่าท่านเจ้าเมืองเองก็มีใจชอบด้านกวีอยู่แล้ว และด้วยความเป็นอัจฉริยะของศรีปราชญ์นี้เองที่ทำให้ท่านเจ้าเมืองโปรดปรานเขา แต่โชคร้ายที่ศรีปราชญ์ตอบแทนไมตรีจิตนี้ด้วยการไปมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับภรรยาน้อยของท่านเจ้าเมืองเข้า ท่านเจ้าเมืองโกรธมากและหึงหวงภรรยาน้อย จึงสั่งให้นำตัวศรีปราชญ์ไปประหารชีวิต ศรีปราชญ์ประท้วงโทษประหารชีวิตแต่ท่านเจ้าเมืองไม่ฟัง และก่อนที่เพชฌฆาตจะลงดาบประหาร ศรีปราชญ์ได้ขออนุญาตเขียนโคลงบทสุดท้ายไว้กับพื้นธรณีว่า



ธรณีนี่นี้ เป็นพยาน

เราก็ศิษย์มีอาจารย์ หนึ่งบ้าง

เราผิดท่านประหาร เราชอบ

เราบ่ผิดท่านมล้าง ดาบนี้คืนสนอง
ในขณะที่ถูกประหารนั้นศรีปราชญ์มีอายุประมาณ 30 หรือ 35 ปี ได้ข่าวการประหารศรีปราชญ์ แพร่ไปถึงพระกรรณของสมเด็จพระนารายณ์ผู้ซึ่งใคร่จะเรียกตัวศรีปราชญ์มาใช้งานในเมืองหลวงพระองค์ทรงพระพิโรธเจ้าเมืองนคร ฯ ผู้ซึ่งกระทำการโดยปราศจากความเห็นชอบของพระองค์ และเมื่อพระองค์ได้ทราบถึงโคลงบทสุดท้ายของศรีปราชญ์จึงมีพระบรมราชโองการให้นำเอาดาบที่เจ้าพระยานคร ฯ ใช้ประหารศรีปราชญ์แล้วนั้นนำมาประหารชีวิตเจ้านคร ฯ ให้ตายตกไปตามกัน สมดังคำที่ศรีปราชญ์เขียนไว้เป็นโคลงบทสุดท้ายก่อนสิ้นชีวิตว่า “ ดาบนี้คืนสนอง ”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น