วันเสาร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เชอร์ล็อก โฮล์มส์

เชอร์ล็อก โฮลมส์ (อังกฤษ: Sherlock Holmes) เป็นนวนิยายสืบสวนหรือรหัสคดี ประพันธ์โดยนักเขียนและนายแพทย์ชาวสก็อต คือ เซอร์อาเธอร์ โคนัน ดอยล์ ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ตัวละคร เชอร์ล็อก โฮลมส์ เป็นนักสืบชาวลอนดอนผู้ปราดเปรื่องที่มีชื่อเสียงโด่งดังด้านทักษะการประมวลเหตุและผล โดยอาศัยหลักฐานและการสังเกตอันคาดไม่ถึงเพื่อคลี่คลายคดีต่างๆ

โคนัน ดอยล์ แต่งเรื่องเชอร์ล็อก โฮลมส์ ไว้ทั้งสิ้นเป็นเรื่องยาว 4 เรื่อง และเรื่องสั้น 54 เรื่อง เกือบทุกเรื่องเป็นการบรรยายโดยเพื่อนคู่หูของโฮลมส์ คือ ดร. จอห์น เอช. วัตสัน หรือ หมอวัตสัน ในจำนวนนี้ มี 2 เรื่องที่โฮลมส์เป็นผู้เล่าเรื่องเอง และอีก 2 เรื่องเล่าโดยบุคคลอื่น เรื่องสั้นสองเรื่องแรกตีพิมพ์ใน Beeton's Christmas Annual ในปี ค.ศ. 1887 และ Lippincott's Monthly Magazine ในปี ค.ศ. 1890 แต่หลังจากที่ชุดเรื่องสั้นลงพิมพ์เป็นคอลัมน์ประจำใน นิตยสารแสตรนด์ เมื่อปี ค.ศ. 1891 นิยายเรื่องนี้ก็โด่งดังเป็นพลุ เหตุการณ์ในนิยายอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1878 ถึง ค.ศ. 1903 และคดีสุดท้ายเกิดในปี ค.ศ. 1914

เมื่อถูกถามว่า เชอร์ล็อก โฮลมส์มีตัวตนจริงหรือไม่ โคนัน ดอยล์ มักตอบว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างเชอร์ล็อก โฮลมส์ มาจากนายแพทย์โจเซฟ เบลล์ ผู้ซึ่งดอยล์เคยทำงานด้วยที่โรงพยาบาลเอดินเบิร์กรอยัล นายแพทย์เบลล์มีความสามารถในการหาข้อสรุปจากความสามารถในการสังเกตรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่นเดียวกับเชอร์ล็อก โฮลมส์ นอกจากนี้นายแพทย์เบลล์ยังมีความสนใจในอาชญากรรมและเคยช่วยเหลือตำรวจในการคลี่คลายคดีต่างๆ ด้วย

ความโด่งดังของเชอร์ล็อก โฮลมส์ ทำให้ผู้อ่านจำนวนมากเชื่อว่าเขามีตัวตนจริงและพากันเขียนจดหมายไปหา มีพิพิธภัณฑ์เชอร์ล็อก โฮลมส์ ตั้งขึ้นในตำแหน่งที่น่าจะเป็นบ้านในนวนิยายของเขาในกรุงลอนดอน นับเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกที่สร้างขึ้นสำหรับตัวละครในนิยาย เรื่องราวของเชอร์ล็อก โฮลมส์ มีการนำไปดัดแปลงและแต่งเพิ่มเติมขึ้นใหม่อีกโดยนักเขียนคนอื่น ทั้งที่เขียนร่วมกับทายาทของโคนัน ดอยล์ และเขียนขึ้นใหม่เป็นเอกเทศ บทประพันธ์ของโคนัน ดอยล์ และนวนิยายที่แต่งขึ้นใหม่ ได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ ละครวิทยุ และสื่ออื่นๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน จนกระทั่งเชอร์ล็อก โฮลมส์ ได้รับการบันทึกจากกินเนสส์บุ๊คว่าเป็น "ตัวละครที่มีผู้แสดงมากที่สุด" ภาพลักษณ์ของโฮลมส์กลายเป็นสัญลักษณ์ของนักสืบ และส่งอิทธิพลต่อวรรณกรรมและการแสดงในประเภทรหัสคดีจำนวนมาก


โครงเรื่อง
เชอร์ล็อก โฮลมส์ ตอนแรกที่ลงตีพิมพ์ใน Beeton's Christmas Annual คือตอน แรงพยาบาท (A Study in Scarlet) โดยบทแรกเล่าถึงการพบกันครั้งแรกระหว่างโฮลมส์กับวัตสัน ทั้งสองมาเช่าห้องพักร่วมกันที่บ้านเลขที่ 221 บี ถนนเบเกอร์ ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1881 แต่เนื้อเรื่องใน แรงพยาบาท เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1884[

เวลานั้นโฮลมส์เป็นนักสืบเชลยศักดิ์อยู่แล้ว ส่วนหมอวัตสันเพียงต้องการพักผ่อนหลังจากเกษียนตัวเองจากสงครามอัฟกานิสถาน ในช่วงแรกหมอวัตสันรู้สึกว่าโฮลมส์ช่างเป็นคนแปลกประหลาด แต่ต่อมาเมื่อคุ้นเคยขึ้น วัตสันจึงเข้าใจและมองเห็นความสำคัญของสิ่งที่โฮลมส์ทำ นับแต่นั้นหมอวัตสันได้ร่วมในการสืบสวนคดีของโฮลมส์หลายต่อหลายครั้ง และเขียนเป็นบันทึกส่วนตัวเก็บไว้อ่าน เนื้อเรื่อง เชอร์ล็อก โฮลมส์ ที่โคนัน ดอยล์ ประพันธ์นั้น สมมุติขึ้นว่าเป็นการเล่าเรื่องจากสมุดบันทึกของหมอวัตสัน ซึ่งเขาส่งให้หนังสือพิมพ์ตีพิมพ์บ้างบางตอน เพราะต้องการเผยแพร่กิตติคุณความสามารถของโฮลมส์ให้โลกรู้

ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1888 ระหว่างการสืบสวนคดี จัตวาลักษณ์ (The Sign of Four) หมอวัตสันได้รู้จักกับ มิสแมรี มอร์สตัน ซึ่งเป็นเจ้าทุกข์ หลังเสร็จสิ้นคดี ทั้งสองได้แต่งงานกัน และหมอวัตสันย้ายออกจากห้องเช่า 221 บี ไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง ต่อมา เมื่อภริยาเสียชีวิต หมอวัตสันจึงได้ย้ายกลับมาอยู่กับโฮลมส์อีกครั้ง

โฮลมส์และหมอวัตสันได้ร่วมสืบคดีด้วยกันเป็นเพื่อนคู่หู รวมคดีที่โฮลมส์สะสางทั้งสิ้นมากกว่าหนึ่งพันคดี[5] บางปีโฮลมส์มีคดีมากมายจนทำไม่ทัน บางปีก็ว่างจนโฮลมส์ต้องหันไปพึ่งฝิ่นและโคเคน ซึ่งเป็นนิสัยเพียงอย่างเดียวของโฮลมส์ที่หมอวัตสันรังเกียจที่สุด ช่วงปีที่โฮลมส์มีงานยุ่งที่สุดคือ ปี ค.ศ. 1894 - 1901 โฮลมส์มีโอกาสได้ถวายการรับใช้สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร เมื่อปี ค.ศ. 1895 เหตุการณ์นี้ปรากฏในตอน แผนผังเรือดำน้ำ (The Bruce-Partington Plan) ต่อมาในปี ค.ศ. 1902 โฮลมส์มีโอกาสได้รับยศอัศวินแต่เขาปฏิเสธ

อย่างไรก็ดี หมอวัตสันก็ยังคงเป็นเพื่อนผู้ซื่อสัตย์ และอยู่ร่วมในคดีสุดท้ายของโฮลมส์ในปี ค.ศ. 1914 ดังปรากฏในบันทึกตอน ลาโรง (His Last Bow) หลังจากคดีนี้แล้วก็ไม่มีบันทึกของหมอวัตสันปรากฏให้เห็นอีก จึงไม่มีใครรู้เลยว่า ชีวิตของคนทั้งสองหลังจากปี ค.ศ. 1914 ได้ดำเนินไปเช่นไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น