วันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553
เรอเน เดส์การตส์
เรอเน เดส์การตส์ (ฝรั่งเศส: René Descartes) เป็นทั้งนักปรัชญาและนักคณิตศาสตร์ นอกจากที่เขาเป็นผู้ที่บุกเบิกปรัชญาสมัยใหม่ เขายังเป็นผู้คิดค้นระบบพิกัดแบบคาร์ทีเซียนซึ่งเป็นรากฐานของการพัฒนาด้านแคลคูลัสต่อมา
เดส์การตส์ ได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ตะวันตกสมัยใหม่ แนวคิดของเขามีผลต่อนักคิดร่วมสมัยไปถึงนักปรัชญารุ่นต่อ ๆ มา โดยรวมเรียกว่าปรัชญากลุ่มเหตุผลนิยม (rationalism) ซึ่งเป็นแนวคิดปรัชญาหลักในยุโรปสมัยศตวรรษที่ 17 และ 18.
ประวัติ
เดส์การตส์เกิดที่ประเทศฝรั่งเศส เขาสำเร็จการศึกษาด้านกฎหมายในปี ค.ศ. 1616 แม้ว่าต่อมาเขาจะไม่ได้ประกอบอาชีพเป็นนักกฎหมายแต่อย่างใด ในปี ค.ศ. 1618 เขาเริ่มทำงานให้กับเจ้าชายมัวริสแห่งนาซอ ผู้นำของกลุ่มจังหวัดของฮอลแลนด์ในขณะนั้น ด้วยความหวังว่าจะเอาดีในสายการทหาร และที่นั่นเองที่เขาได้พบกับ ไอแซค บีคแมน และได้แต่งเพลงชื่อว่า Compendium Musicae
ในปี ค.ศ. 1619 (พ.ศ. 2162) เขาได้เดินทางไปยังประเทศเยอรมนี และในวันที่ 10 พฤศจิกายน ในปีนี้เองที่เขาได้มองเห็นแนวคิดใหม่ของคณิตศาสตร์และระบบทางวิทยาศาสตร์ จากนั้นในปี ค.ศ. 1622 เขาได้เดินทางกลับไปยังฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1627 เดส์การตส์ได้อยู่ในเหตุการณ์ยึดเมืองลาโรแชล (La Rochelle) ที่นำโดยบาทหลวงรีชลีเยอ (Richelieu)
ในปี ค.ศ. 1628 เขาได้แต่ง Rules for the Direction of the Mind และได้ย้ายไปอยู่ที่ประเทศฮอลแลนด์ ซึ่งเป็นที่เขาพำนักอยู่จนถึงปี ค.ศ. 1649 ในปี ค.ศ. 1629 เขาได้เริ่มงานเขียนชื่อ The World อย่างไรก็ตามเขาไม่ได้จัดพิมพ์ผลงานชิ้นนี้ เนื่องจากทราบข่าวการตัดสินคดีของกาลิเลโอที่มีขึ้นในปี ค.ศ. 1633 เขาได้ลูกสาวในปี ค.ศ. 1635 อย่างไรก็ตามเธอได้เสียชีวิตลงในอีก 5 ปีถัดมา
เขาได้ตีพิมพ์ Discourse on Method, พร้อมด้วย Optics, Meteorology and Geometry ในปีค.ศ. 1637 จากนั้นในปี ค.ศ. 1641 (พ.ศ. 2184) หนังสือชื่อ การครุ่นคิดเกี่ยวกับปรัชญาที่หนึ่ง (Meditations on First Philosophy) ก็ได้ถูกจัดพิมพ์ขึ้นพร้อมด้วยบทความรวมข้อโต้เถียงและคำตอบส่วนแรกที่มี 6 ชุด ในปี 1642 Meditations ฉบับพิมพ์ครั้งที่สองก็ได้รับการจัดพิมพ์พร้อมด้วยบทความรวมข้อโต้เถียงทั้งหมด 7 ชุด
ในปี ค.ศ. 1643 ระบบคิดทางปรัชญาของเขาถูกประณามที่มหาวิทยาลัยแห่งอูเทรช และเขาได้เริ่มเขียนติดต่อกับพระนางเจ้าอลิซาเบทแห่งโบฮีเมีย (Princess Elizabeth) เดส์การตส์พิมพ์ Principles of Philosophy และเดินทางไปยังฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1644 และในปี ค.ศ. 1647 ได้รับรางวัลเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือนโดยพระราชาแห่งฝรั่งเศส หลังจากนั้นเขาก็ได้พิมพ์หนังสืออีกหลายเล่มเช่น Comments on a Certain Broadsheet The Description of the Human Body และ Conversation with Burman. ในปี ค.ศ. 1649 เขาได้เดินทางไปประเทศสวีเดน ภายใต้คำเชิญของพระนางเจ้าคริสตินา (Queen Christina) และในปีนั้นหนังสือ Passions of the Soul ที่อุติแด่พระนางเจ้าอลิซาเบทแห่งโบฮีเมียได้รับการจัดพิมพ์ขึ้น
เรอเน เดส์การตส์เสียชีวิตเนื่องจากนิวโมเนียในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1650 (พ.ศ. 2193) ที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เนื่องจากเขาเป็นชาวแคทอลิกในประเทศโปรเตสแตนต์ ศพของเขาจึงถูกฝังที่สุสานสำหรับทารกที่ไม่ได้ผ่านพิธีรับศีล หลังจากนั้นศพของเขาบางส่วนถูกนำไปประกอบพิธีที่ฝรั่งเศส และในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศสศพของเขาก็ถูกย้ายไปฝังที่พาเทนอลในปารีส ร่วมกับนักคิดชาวฝรั่งเศสผู้ยิ่งใหญ่ท่านอื่น ๆ เมืองเกิดของเขาได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น La Haye - Descartes
ในปี ค.ศ. 1667 หลังจากที่เขาเสียชีวิต ศาสนจักรโรมันคาทอลิก ได้ใส่งานของเขาเข้าไปในรายการหนังสือต้องห้าม (Index of Prohibited Books)
ผลงานที่สำคัญ
เดส์การตส์ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักคิด "แห่งยุคสมัยใหม่" คนแรก เนื่องจากเป็นผู้วางรากฐานทางปรัชญาให้กับวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ในหนังสือ การครุ่นคิดเกี่ยวกับปรัชญาที่หนึ่ง (Meditations on First Philosophy) เดส์การตส์พยายามหากลุ่มของหลักการที่สามารถเชื่อถือได้ว่าจริง โดยปราศจากข้อสงสัย เขาได้ใช้วิธีการที่เรียกว่า กังขาคติเชิงวิธีวิทยา (Methodological Skepticism) กล่าวคือ เขาจะสงสัยกับทุก ๆ ความคิดที่สามารถจะสงสัยได้
เขายกตัวอย่างของการฝัน: ในความฝัน ประสาทสัมผัสต่าง ๆ ของเราอาจรับรู้อะไรได้เหมือนจริง แต่สิ่งที่เรารับรู้นั้นล้วนไม่มีอยู่จริง ดังนั้น เราจึงไม่สามารถรับประกันได้ว่าข้อมูลที่ได้จากประสาทสัมผัสนั้น เป็นสิ่งที่ต้องเป็นความจริง ไม่แน่ว่าอาจมี "ผู้จ้องทำลายที่ร้ายกาจ" ที่สามารถปิดบังเราจากการรับรู้ธรรมชาติที่แท้จริงของสรรพสิ่งได้ เมื่ออาจมีความเป็นไปได้เหล่านี้แล้ว จะเหลืออะไรบ้างที่เราสามารถเชื่อได้อย่างแท้จริง?
เดส์การตส์พบความเป็นไปได้เพียงข้อเดียว: ถ้าฉันถูกหลอกได้ นั่นแปลว่า "ฉัน" จะต้องมีอยู่จริง วาทะที่โด่งดังของความคิดนี้คือ cogito ergo sum (หรือ "เพราะฉันคิด ฉันจึงมีอยู่") (คำพูดนี้ไม่ได้ถูกเขียนไว้ใน การครุ่นคิด แต่เขาได้เขียนไว้ในงานชิ้นก่อน Discourse on Method)
ดังนั้น เขาจึงสรุปว่าเขาสามารถแน่ใจได้ว่าเขามีอยู่จริง แต่คำถามก็คือเขานั้นมีอยู่ในรูปแบบใด? การที่ประสาทสัมผัสบอกว่าเรามีร่างกายอยู่นั้น ก็ไม่ใช่สิ่งที่จริงแท้ดังที่เขาได้พิสูจน์มาแล้ว เดส์การตส์สรุปที่จุดนี้ว่า เขาสามารถกล่าวได้แค่ว่าเขาเป็น 'อะไรบางสิ่งที่กำลังคิด' เท่านั้น การกำลังคิดนั้นเป็นแก่นสารที่แท้ของเขา เนื่องจากว่าเป็นสิ่งเดียวเท่านั้นที่อยู่เหนือการสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น
เขาอธิบายเพิ่มเติมเพื่อแสดงขีดจำกัดของประสาทสัมผัส โดยยกตัวอย่างของขี้ผึ้ง เขาพิจารณาชิ้นขี้ผึ้งชิ้นหนึ่ง ประสาทสัมผัสของเขาบอกให้ทราบถึงลักษณะต่าง ๆ ของขี้ผึ้งก้อนนั้น เช่นรูปร่าง ผิว ขนาด สี กลิ่น และอื่น ๆ อย่างไรก็ตามเมื่อเขานำขี้ผึ้งนั้นเข้าใกล้ไฟ ลักษณะต่าง ๆ เหล่านี้ก็เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง แต่ก้อนขี้ผึ้งก้อนนี้อย่างไรก็เป็นก้อนเดิม แต่ว่าประสาทสัมผัสของเขานั้นบอกว่าลักษณะของมันไม่เหมือนเดิมแล้ว ดังนั้น การจะเข้าใจธรรมชาติของขี้ผึ้งได้นั้น เขาไม่สามารถใช้ประสาทสัมผัสได้ เขาจะต้องใช้จิต เขาสรุปว่า:
"ดังนั้น สิ่งที่ฉันคิดว่าฉันเห็นด้วยตานั้น จริงแล้วฉันรู้มันโดยผ่านทางเครื่องมือสำหรับตัดสินใจ นั่นก็คือจิตของฉัน"
เขาใช้วิธีในลักษณะนี้ในการสร้างระบบความรู้ โดยละทิ้งสัญชาน (ข้อมูลที่ได้จากการรับรู้ผ่านทางประสาทสัมผัส) เนื่องจากเชื่อถือไม่ได้ และยอมรับความรู้ที่สร้างผ่านทางการนิรนัยเท่านั้น ในช่วงกลางของ การครุ่นคิด เขายังได้อ้างว่าได้พิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้าที่มีเจตนาดี ผู้มอบจิตที่สามารถทำงานได้ให้กับเขารวมถึงระบบรับรู้ และจะไม่หลอกลวงเขา ดังนั้นเขาจึงสามารถแสดงความเป็นไปได้ในการสร้างความรู้เกี่ยวกับโลก โดยใช้การนิรนัย ร่วมกับ ข้อมูลที่ได้จากการรับรู้ผ่านทางประสาทสัมผัส
นักคณิตศาสตร์ยกย่องเดส์การตส์จากการค้นพบเรขาคณิตวิเคราะห์ ในยุคสมัยของเดส์การตส์นั้น เรขาคณิตซึ่งศึกษาเกี่ยวกับเส้นและรูปร่าง กับพีชคณิตที่ศึกษาเกี่ยวกับตัวเลข ถูกจัดว่าเป็นสาขาย่อยของคณิตศาสตร์ที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลย เดส์การตส์แสดงวิธีการแปลงปัญหาในเรขาคณิตมากมาย ให้เป็นปัญหาทางพีชคณิต โดยใช้ระบบพิกัดคาร์ทีเซียนในการอธิบายปัญหา
ทฤษฎีของเดส์การตส์เป็นพื้นฐานของแคลคูลัสของนิวตันและไลบ์นิซ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของคณิตศาสตร์สมัยใหม่ ทั้ง ๆ ที่งานในส่วนนี้เดส์การตส์ตั้งใจจะใช้เพื่อเป็นเพียงแค่ตัวอย่าง ในหนังสือ Discourse on Method เท่านั้น
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น