วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ซึ่งประชาชาติไทยได้พร้อมใจกันถวายพระนามแด่พระองค์ว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง หรือ สมเด็จพระปิยมหาราช และพากันน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของพระองค์อยู่ในทุกวันนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเป็นพระบรมราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพสิรินทราบรมราชินี พระองค์ประสูติ เมื่อปีฉลู วันอังคาร เดือน 10 แรม 3 ตรงกับวันที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2396 ได้เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติ เมื่อวันพุธ เดือน 12 แรม 12 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2411 เมื่อพระชนม์ได้ 16 พรรษา ได้เสด็จสวรรคตเมื่อวันอาทิตย์ เดือน 11 แรม 5 ค่ำ ปีจอ ตรงกับวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2453 เมื่อพระชนมายุได้ 58 พรรษา เสวยราชสมบัติได้ 42 ปี
ตลอดเวลา 42 ปี ที่สมเด็จพระปิยมหาราชได้เสวยราชสมบัตินั้น พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติเป็นอเนกประการ โดยเฉพาะในรัชสมัยของพระองค์นั้น เป็นระยะเวลาที่อารยธรรมสมัยใหม่ได้เข้ามาสู่ชาติไทย และเป็นพื้นฐานให้ชาติไทยได้เจริญก้าวหน้าตลอดมาจนถึงสมัยทุกวันนี้ ปัจจัยแห่งอารยธรรมสมัยใหม่ที่ได้ริเริ่มในรัชสมัยของพระองค์มี อาทิเช่น การประปา การไฟฟ้า การไปรษณีย์โทรเลข การรถไฟ การตัดถนนหนทาง การแพทย์ การสาธารณสุข การศาล การทหาร การจัดระบบการศึกษาแบบใหม่ การตั้งโรงพยาบาล และการจัดระบบการบริหารราชการแผ่นดินตามแบบอย่างอารยประเทศ การเลิกทาส การจัดตั้งสภาเสนาบดี อันเป็นวิธีการของการปกครองอย่างระบอบประชาธิปไตย เป็นต้น ซึ่งได้เริ่มขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระปิยมหาราชนี้ ซึ่งแต่กาลสมัยก่อนนั้น เมืองไทยยังไม่มีปัจจัยแห่งอารยธรรมสมัยใหม่อันสำคัญดังกล่าวนี้ และประการสำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือการจัดส่งพระราชโอรสและนักเรียนไทยไปศึกษาในต่างประเทศ ซึ่งได้กลับมาเป็นกำลังสำคัญแก่ประเทศชาติมากที่สุด นับว่าพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์สำคัญพระองค์หนึ่งในประเทศประวัติศาสาสตร์ของชาติไทย ที่ได้ทรงสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ชาติไทยอย่างใหญ่หลวง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 โปรดให้สถาปนาพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรีเป็นนางเธอฯ ในต้นรัชกาลนั้น และเลื่อนเป็นพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี เมื่อปี พ.ศ.2423 ซึ่งเป็นปีที่สมเด็จพระนางสุนันทากุมารีรัตน์สิ้นพระชนม์ ครั้น พ.ศ.2437 สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ มกุฎราชกุมารพระองค์แรกในกรุงสยามซึ่งเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 อันประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี เสด็จทิวงคต พระพุทธเจ้าหลวงปิยมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี พระราชโอรสที่ประสูตแต่พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี เลื่อนขึ้นเป็นมกุฎราชกุมารแทน และโปรดเกล้าฯ ให้พระชนนีของมกุฎราชกุมารนั้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี
สมเด็จพระศรีพัชรินทรา พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 5 มีพระนามเดิม พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดา รวม 9 พระองค์คือ
1. สมเด็จเจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย เป็นกรมพระเทพนารีรัตน์ ในรัชกาลที่ 6 ประสูติเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2421 แต่พระองค์สิ้นพระชนม์แต่พระชันษา 9 ปี
2. สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ คือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ประสูติเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2423 ต่อมาทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเทพทวาราวดี และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ตามลำดับ ภายหลังเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
3. สมเด็จเจ้าฟ้าตรีเพชรรุตมธำรง ประสูติเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2424 สิ้นพระชนม์เมื่อมีพระชันษาเพียง 7 พรรษา
4. สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ เป็นกรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ต้นสกุลจักรพงษ์ ประสูติเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2425 สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2463
5. สมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกุกุธภัณฑ์ ประสูติเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2428 สิ้นพระชนม์แต่พระชันษา 3 ปี
6. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง สิ้นพระชนม์ในวันที่ประสูติ
7. สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางคเดชาวุธ เป็นกรมหลวงนครราชสีมา ประสูติเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2432 สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2467
8. สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก เป็นกรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย ประสูติเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2435 สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2466
9. สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิ์เดชน์ เป็นกรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา ประสูติเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2436 และเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 7
สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี ในรัชกาลที่ 5 มีพระนามเดิม “สว่างวัฒนา” ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดา รวม 8 พระองค์คือ
1.สมเด็จเจ้าฟ้าชายมหาวชิรุณหิศฯสมเด็จพระบรมราชโอรสาธิราชสยามกุฎราชกุมาร ประสูติเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2421 สวรรคตเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2432 พระชนมายุได้ 16 พรรษาเศษ
2. สมเด็จเจ้าฟ้าชายอิศริยาภรณ์ ประสูติเมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2428 มีพระชนมายุได้เพียง 21 วัน ก็สิ้นพระชนม์
3. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงวิจิตรจิรประภา ประสูติเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2424 มีพระชนมายุได้ 3 เดือน กับ 24 วันก็สิ้นพระชนม์
4. สมเด็จเจ้าฟ้าชายสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ ประสูติเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2425 สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ.2442 มีพระชนม์มายุได้ 17 พรรษา
5. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ประสูติเมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2427 สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2481 มีพระชนม์มายุได้ 54 พรรษาเศษ
6. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงศิราภรณ์โสภณ ประสูติเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2431 สิ้นพระชนมเมื่อพระชนม์มายุได้ 9 พรรษา
7. สมเด็จเจ้าฟ้าชายมหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ ประสูติเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2434 สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2470 เมื่อมีพระชนมายุได้ 37 พรรษา นับว่าพระองค์มีพระบุญญาธิการอันยิ่งใหญ่ที่พระโอรสได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินถึง 2 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอนันทมหิดล รัชกาลที่ 8 และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และต่อมาในรัชกาลที่ 9 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระราชบิดากรมหลวงสงขลานครินทรว่า สมเด็จพระมหิตลาธิเบศธ์อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และประกาศเฉลิมพรนามาภิไธย สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลว่า “สมเด็จพระศรีนครินทราพระบรมราชชนนี”
8. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงประสูติได้ 3 วัน ก็สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดา รวมทั้งสิ้น 77 พระองค์
ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ นี้ เป็นระยะเวลาที่มหาอำนาจตะวันตกได้แผ่อำนาจมาทางเอเซียอาคเนีย์ หลายประเทศต้องตกเป็นเมืองขึ้นของมหาอำนาจตะวันตกแต่ด้วยพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระปิยมหาราช พระองค์ได้ทรงยอมเสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศสถึง 5 ครั้ง และแก่อังกฤษ 1 ครั้ง เพื่อรักษาเอกราชของประเทศชาติเอาไว้ ดังนี้
การเสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศสในช่วงแรก พ.ศ.2410 – 2436 (ค.ศ.1867 – 1893)
ครั้งที่ 1 เสียเขมรส่วนนอก พ.ศ.2410 (ค.ศ.1867)
ครั้งที่ 2 เสียแคว้นสิบสองจุไทย พ.ศ.2431 (ค.ศ.1888)
ครั้งที่ 3 เสียหัวเมืองเงี้ยวทั้งห้าและหัวเมืองกระเหรี่ยงตะวันออก พ.ศ.2435 (ค.ศ.1892)
ครั้งที่ 4 เสียดินแดนบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง พ.ศ.2436 (ค.ศ.1893)
การเสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศสและอังกฤษในช่วงหลัง พ.ศ.2446 – 2452 (ค.ศ.1904-1909) ดังนี้
ครั้งที่ 1 เสียฝั่งขวาของแม่น้ำโขง : มโนไพร จำปาศักดิ์ และหลวงพระบางบนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงให้กับฝรั่งเศส พ.ศ2446 (ค.ศ.1904)
ครั้งที่ 2 เสียมณฑลบูรพาให้แก่ฝรั่งเศส พ.ศ.2449 (ค.ศ.1907)
ครั้งที่ 3 เสียรัฐไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และประลิศให้อังกฤษ พ.ศ.2452 คิดเป็นเนื้อที่ ๆ เสียดินแดนไปประมาณ 518,700 ตารางกิโลเมตร
พระราชกรณียกิจที่สำคัญการปฎิรูปการปกครองของไทย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงปฎิรูปการปกครองของประเทศไทย จากแผนโบราณมายังแผนอารยใหม่ทั้งหมด การที่พระองค์ทรงปฎิรูปการปกครองแบบแผนใหม่นี้ ก็เนื่องมาจากมูลเหตุบางประการคือ
มูลเหตุจากปัญหาภายนอกประเทศ คือในช่วงรัชกาลที่ 3 ถึงรัชกาลที่ 5 ประเทศต่าง ๆ ที่อยู่รอบประเทศของเราในคาบสมุทรอินโดจีน ล้วนตกอยู่ภายใต้อิทธิพลการปกครองของประเทศมหาอำนาจตะวันตกคือ ฝรั่งเศสและอังกฤษ
มูลเหตุจากภายในประเทศ ประเทศไทยเรายังใช้ระบบแผนโบราณมาปกครองประเทศ ทำให้การบริหารงานปกครองแผ่นดินอืดอาดล่าช้า
ก่อนการปฎิรูประเบียบการบริหารราชการแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับตั้งแต่ พ.ศ.2435 นั้น ดินแดนที่ไทยเราปกครองอยู่แบ่งเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ ดินแดนที่เป็นของดั้งเดิมของไทย หรือดินแดนชั้นใน แบ่งการปกครองออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ คือ หัวเมืองชั้นใน อันเป็นที่ตั้งราชธานีคือ กรุงเทพฯ หัวเมืองชั้นในนั้นต้องอยู่ภายในระยะที่จะติดต่อกันได้ภายใน 2 วัน กับหัวเมืองชั้นนอก ดินแดนใหม่ที่ได้ผนวกเข้ามาคือ เมืองประเทศราชนั่นเอง
หัวเมืองชั้นในได้แก่ จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขัน์ กาญจนบุรี สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี สมุทรสาคม นครสวรรค์ ชัยนาท ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และนครนายก
หัวเมืองชั้นนอก ได้แก่ หัวเมืองที่อยู่ถัดออกไปจากหัวเมืองชั้นในทั้งหมด แบ่งออกเป็นเมืองพระยามหานคร ซึ่งมีฐานะเป็นเมืองเอก โท ตรี
ก่อนที่จะมีการปฎิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5 รูปแบบการปกครองในสมัยก่อนได้มีเสนาบดี ตำแหน่งสูงสุด 3 ตำแหน่งคือ
สมุหนายก
สมุหกลาโหม
พระยาโกษาธิบดี
ในทางทฤษฎีนั้น อำนาจของเจ้าเมืองอยู่ภายใต้ขอบเขตตามที่พระราชกำหนดบัญญัติไว้ แต่ในทางปฎิบัติแล้ว อำนาจของเจ้าเมืองมีมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าเมืองที่อยู่ไกล ๆ ราชธานีออกไป และความสวามิภักดิ์ต่องค์พระมหากษัตริย์ซึ่งปกครองราชธานีก็มีเพียงแต่ผิวเผินเท่านั้น การปกครองบังคับบัญชาตลอดจนการปฎิบัติหน้าที่ของข้าแผ่นดินก็ปฎิบัติกันในรูปแบบหรือใช้ลัทธิเจ้าขุนมูลนาย เกิดช่องว่างกันมากระหว่างข้าราชการกับราษฎร
ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้เป็นปัญหาที่สำคัญ ซึ่งเพียงพอที่จะชี้ให้เห็นความบกพร่องของการจัดระเบียบและการวางนโยบายการปกครองประเทศหลาย ๆ ด้าน และประกอบทั้งอารยธรรมของตะวันตกก็ได้แพร่หลายเข้ามาในประเทศ พระองค์จึงได้ทรงเปลี่ยนแปลงและแก้ไขการปกครองในส่วนกลาง ซึ่งเวลานั้นมีเพียง 6 กระทรวง และเพื่อให้เหมาะสมกับกาลสมัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการเปลี่ยนแปลงหน้าที่ของกระทรวงเพิ่มขึ้นอีก 4 กระทรวง เป็น 10 กระทรวง
การออกพระราชบัญญัติเลิกทาส
ในบรรดางานทั้งหลายที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทำเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ ปลดเปลื้องทุกข์ยากของประชาราษฎร์ เป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ประชาชนชาวเราทั้งหลายถวายพระนามสัญญาว่า “ปิยมหาราช” นั้น งานเลิกทาสดูเหมือนจะนำหน้างานใด ๆ ทั้งสิ้น
งานขั้นต้นของการเลิกทาสได้เริ่มจริงจังขึ้นใน ปี พ.ศ.2417 โดยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชปรารถในที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน เรื่องจะลดเกษียณอายุค่าตัวลูกทาส และจะให้บิดามารดาขายลูกได้ แต่ตามเกษียณอายุ ซึ่งจะตั้งขึ้นใหม่ ห้ามมิให้พ่อแม่ขายลูกเป็นเงินแพงกว่าที่กำหนดไว้ โดยกำหนดค่าตัวทาสไว้อย่างแน่นอนคือ ถ้าเป็นชายให้มีค่าตัว 8 ตำลึง ถ้าเป็นหญิงให้มีค่าตัวเต็ม 7 ตำลึง และเมื่ออายุครบ 21 ปี ให้ขาดจากการเป็นทาสทั้งหญิงและชาย
ในที่สุด พระราชบัญญัติที่แท้จริงทั่วพระราชอาณาจักร คือ มีพระราชบัญญัติทาสรัตนโกสินทร์ ศก 124 (พ.ศ.2448) ในพระราชบัญญัติฉบับนี้เลิกเรื่องลูกทาสในเรือนเบี้ยอย่างเด็ดขาด เด็กที่เกิดจากทาสไม่เป็นลูกทาสอีกต่อไป นับแต่วันออกพระราชบัญญัติฉบับนี้ ห้ามการขายตัวลงเป็นทาส การซื้อขายทาสเป็นโทษทางอาญา ส่วนผุ้ที่เป็นทาสอยู่แล้ว นายเงินต้องลดค่าตัวให้เดือนละ 4 บาท จนกว่าจะหมด ถ้ามีการโยกย้ายเปลี่ยนนายก็มิให้เพิ่มค่าตัวขึ้น
ต่อมาอีก 3 ปี เมื่อได้ประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญาใน พ.ศ.2451 ก็มีบทบัญญัติวางโทษผู้ซื้อขายทาสเท่ากับโจรปล้นทรัพย์ คือ มีโทษจำคุกถึง 7 ปี
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น