วันอังคารที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2553

พระราชกรณียกิจชองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช


พระราชกรณียกิจชองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยสังเขป
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นสืบราชสันตติวงศ์ต่อจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๙ แห่งบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เป็นเวลา ๖๐ ปีที่พระองค์ทรงดำรงฐานะเป็นพระประมุขของชาติ เป็นระยะเวลาการครองราชย์ที่ยาวนานกว่ามหาราชาองค์ใดในโลกและบูรพกษัตริย์องค์ใดในแดนสยาม และเป็นเวลา ๖๐ ปีนี้เอง ที่พระองค์ทรงทุ่มเทพระวรกาย พระสติปัญญาความสามารถ และพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอยู่เป็นนิจนานัปการ ด้วยหวังให้มหาชนชาวสยามถึงพร้อมด้วยประโยชน์สุข ซึ่งเป็นสิ่งที่พระองค์ทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้ตั้งแต่สมัยเมื่อเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ดังพระปฐมบรมราชโองการที่ได้พระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทยเมื่อครั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชนชาวสยาม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดพระองค์หนึ่งของโลก พระราชกรณียกิจของพระองค์มีมากมาย ทั้งในด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านการศึกษา ด้านศาสนา ด้านความมั่นคงภายในประเทศ ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ด้านศิลปะวัฒนธรรม และด้านการกีฬา
แต่พระราชกรณียกิจหลักของพระองค์คือ การยกระดับสภาพความเป็นอยู่ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยพระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินไปยังท้องที่ต่างๆ พร้อมทอดพระเนตรสภาพปัญหาในท้องที่เหล่านั้นด้วยพระองค์เอง พระองค์จะใช้เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละปี เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระตำหนักตามภูมิภาคต่างๆ และจะทรงหาโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่ใกล้เคียงอยู่เสมอ จนอาจกล่าวได้ว่า ไม่มีพื้นที่แห่งใดในประเทศไทย ที่พระองค์ไม่เคยเสด็จพระราชดำเนินไปถึง ตลอด ๖๐ ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่พระองค์ทรงงานอย่างไม่เคยว่างเว้น และทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่ถึงพร้อมทั้งความบริสุทธิ์บริบูรณ์ จึงเป็นช่วงเวลา ๖๐ ปีที่พสกนิกรชาวไทยอยู่ได้อย่างร่มเย็นเป็นสุขภายใต้ร่มพระบารมี พระราชกรณียกิจทั้งหลายที่พระองค์ทรงบำเพ็ญ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้ที่พระองค์ทรงมีต่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทย
การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรทั่วประเทศ
พระองค์เสด็จเยี่ยมราษฎรในทุกท้องถิ่น ทุกจังหวัด ทุกภาคของประเทศ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรภาคกลางเป็นภาคแรก และเสด็จเยี่ยมภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นเวลานาน ถึง ๑๙ วัน ประชาชนในท้องถิ่นจังหวัดต่างๆ เฝ้ารอรับเสด็จด้วยความปิติยินดี บางคนรับเสด็จที่จังหวัดหนึ่งแล้วตามไปเฝ้ารอรับเสด็จอีกจังหวัด
ใน ปี ๒๕๐๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรภาคเหนือครบทุกจังหวัด และเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในภาคใต้ ในปีต่อมา พ.ศ. ๒๕๐๒ การเสด็จเยี่ยมราษฎรทุกภาคของประเทศ ได้ทอดพระเนตรชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะท้องถิ่นทุรกันดาร ทรงสอบถามข้อมูล รับทราบความทุกข์ยากของราษฎรอย่างใกล้ชิด ทำให้พระองค์ได้ทรงทราบปัญหาของราษฎรด้วยพระองค์เอง ภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จในท้องถิ่นต่างๆ ในพระหัตถ์มีแผนที่ หรือเอกสารข้อมูลและดินสอดำ ที่พระศอมีกล้องถ่ายภาพคล้องอยู่ จึงเป็นภาพที่ชินตาพสกนิกรไทย ตลอด ๖๐ ปีที่ผ่านมา


การเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรมที่พระตำหนักตามภูมิภาคต่างๆ พระราชประสงค์ที่สำคัญ คือ เยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดาร แทบจะไม่มีพื้นที่ใดในประเทศไทยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงรู้จัก การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงรับรู้ทุกข์สุขของราษฎรทำให้มีพระราโชบายว่า “การที่จะแจกสิ่งของหรือเงินแก่ราษฎรนั้นเป็นการช่วยเหลือชั่วคราว ไม่ยั่งยืน การที่จะช่วยประชาชนอยู่รอดได้ก็คือการให้อาชีพ”

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
โครงการช่วยเหลือราษฎรของพระองค์ก่อนที่จะพระราชทานไปนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงศึกษาทดลองจนรู้จริง จากสภาพแวดล้อม ภูมิประเทศ จากความเห็นของราษฎร และ นักวิชาการในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียหาย และติดตามผลด้วยพระองค์เอง
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า ๓,๐๐๐ โครงการ ได้บูรณาการให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรทั่วทุกภาค เช่น โครงการด้านเกษตรกรรม การสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม การชลประทาน การประมงการสหกรณ์ ฯลฯ
ตัวอย่างโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เกิดประโยชน์ต่อชุมชนชนบท เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้เพื่อการพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่น ทรงมีพระราชดำริจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๖ แห่ง ทั่วประเทศ ที่จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดสกลนคร จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดนราธิวาส เพื่อเป็นตัวอย่างกับเกษตรกรและประชาชนครอบคลุมทุกภูมิภาค
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ เพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวไทยทุกเชื้อชาติ ศาสนา ทั่วทุกภาคของประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของราษฎรอย่างแท้จริง พระองค์ได้พระราชทานแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นแก่นแท้ของการ พัฒนาที่ยั่งยืน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น