วันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

โรงเรียนราชินีบูรณะ

ประวัติโรงเรียนราชินีบูรณะ

ที่ตั้งปัจจุบัน ถนนหน้าพระ ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐมมีเนื้อที่ 11 ไร่ 1 งาน 27 ตารางวา ประวัติความเป็นมา พ.ศ. 2457เจ้าพระยาศรีวิชัย ต.สมุหเทศาภิบาล มณฑลนครชัยศรีได้ขอครูสตรีจากกระทรวงธรรมการ เพื่อจัดตั้งโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดขึ้นครูคนแรกของโรงเรียน คือ ครูไปล่ สายันตนะ โดยเช่าห้องแถวริมถนนซ้ายพระ ของพระคลังข้างที่ 2 ห้อง เป็นโรงเรียน เปิดสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2457 มีนักเรียนทั้งหมด 7 คน ต่อมาโรงเรียนถูกไฟไหม้ จึงย้ายมาตั้งใหม่ที่เรือนข้างที่พักกองเสือป่า(ใกล้ห้องสมุดประชาชน) มีนักเรียน 36 คน ต่อมาพระยามหาอำมาตย ์อุปราชภาคตะวันตก และสมุหเทศาภิบาลนครชัยศรีเห็นความจำเป็นจะต้องตั้งโรงเรียนถาวรขึ้น จึงมอบให้คุณหญิงทองอยู่ (ภรรยา) ซึ่งเป็นข้าหลวงคนสนิทของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินาถ เข้าเฝ้าขอพระราชทานเงินเพื่อสร้างโรงเรียนหญิงประจำมณฑลขึ้น โปรดเกล้าฯ พระราชานเงิน 25,000 บาท สร้างโรงเรียนราชินีบูรณะ ผู้ควบคุมการก่อสร้าง คือ พระพุธเกษตรานุรักษ์ พัศดีเรือนจำนครปฐม สร้าง ณ ที่ ถนนราชมรรคา ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม สร้างเสร็จเรียบร้อยและเปิดให้นักเรียนเข้าเรียนได้ เมื่อ วันที่ 30 พฤษภาคม 2461 เมื่อ วันที่ 10 มิถุนายน 2462 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ(พระพันปีหลวง) ได้พระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์ขนาดใหญ่ และโปรดเกล้าให้ กรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิยากร เป็นผู้แทนพระองค์มาเปิดโรงเรียน พร้อมกับ พระราชทานนามว่า "ราชินีบูรณะ" สภาพโรงเรียนเป็นตึก 2 ชั้น มีห้องเรียน 6 ห้อง เนื่องจากนักเรียนมีเพิ่มมากขึ้นทุกปี ดังนั้น ใน พ.ศ.2477 พระยาพิพิธอำพลวิมลภักดี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม จึงได้ริเริ่มสร้างอาคารเรียนเป็นเรือนไม้ชั้นเดียว ใต้ถุนสูงขึ้น เปิดใช้เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2478 ชื่อว่า "เรือนพิพิธอำพลบูรณะ" ต่อมา พ.ศ.2498 ได้ใช้เงินบำรุงการศึกษาต่อเติม ชั้นล่างขึ้นอีก 5 ห้อง รวมเป็น 10 ห้องเรียน พ.ศ. 2497 ได้ซื้อที่ดินเพิ่มด้านตะวันออก อีก 1 ไร่ 25 ตารางวา เป็นเงิน 45,000 บาท โดยได้รับพระราชทานเงินจากสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เป็นเงิน 3,500 บาท รวมกับเงินบริจาคของศิษย์ทุกรุ่น โรงเรียนจึงได้จัดสร้างอาคารเรียนเพิ่มขึ้น พ.ศ. 2499 ผู้ปกครองนักเรียนพร้อมใจกันบริจาคเงินต่อเติมโรงอาหาร ต่อมาได้สร้างอาคาร 2 ชั้น มีห้องเรียน 6 ห้อง ขึ้นใหม่ โดยได้รับบริจาคจากนางทิมและนางสาวละออง ประพันธสิริ เป็นเงิน 140,000 บาท สร้างอาคาร มีชื่อว่า "เรือน ทิม-ละออง ประพันธสิริ" ปัจจุบัน เรือน"ทิม-ละออง ประพันธสิริ" ทำการรื้อถอนเพื่อก่อสร้างอาคารใหม่ 4 ชั้น นอกจากนี้ นางทิมยังได้กรุณามอบพันธบัตร เป็นเงิน 100,000 บาท เพื่อจัดตั้งเป็นมูลนิธิเก็บดอกผลเป็นทุนการศึกษาแก่เด็กยากจน ให้ชื่อว่า "มูลนิธิทิม-ละออง ประพันธสิริ อนุสรณ์" การพัฒนาโรงเรียนเป็นไปตามลำดับ แต่เนื่องจากคณะศรีพัชรินทร์ มีบริเวณคับแคบ ยากแก่การบริหารหลักสูตร ด้วยความสนับสนุนของสมาคมผู้ปกครอง ครูและศิษย์เก่าราชินีบูรณะ และผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม จึงตัดสินใจซื้อที่ดินเพิ่มอีก 4 ไร่ มูลค่ารวมค่าชดเชยบ้าน 22 หลัง เป็นเงิน 8 ล้าน 2 แสนบาท ด้วยปณิธานอันแน่วแน่ของผู้อำนวยการยุพิน ดุษิยามี โครงการซื้อที่ดินก็สำเร็จสมความมุ่งหวังของทุกคน และได้สร้างอาคารเอนกประสงค์ ขึ้น 1 หลัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น