วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2553
เจ้าชายแดร็กคิวล่า เจ้าชายวล้าดที่ 3 แห่งโรมาเนีย
ตามตำนานแดร็กคิวลา เจ้าชายที่ถูกกล่าวขานว่าเป็นผีดูดเลือดมีพระนามว่า เจ้าชายวล้าดที่ 3 หรือที่รู้จักในนาม วล้าด เทเปส (Vlad Tepes) เป็นเจ้าครองแคว้นวาลาเชีย แต่ถือกำเนิดในดินแดนทรานซเวเนีย หรือโรมาเนียในปัจจุบัน
ต้นตระกูลของเจ้าชายวล้าด คือเจ้าชายบาซาราบมหาราช ผู้กอบกู้เอกราชแคว้นวาลาเชียจากฮังการีในปีค.ศ.1310 และปกครองอยู่ช่วงปี 1310-1352 ต่อด้วยเจ้าชายเมียร์ซี ปู่ของเจ้าชายวล้าด ซึ่งนำทัพพ่ายแพ้ในการรบกับฝ่ายเติร์กบ่อยครั้ง จนต้องยอมจำนนอยู่ภายใต้อาณาจักรออตโตมาน
การสืบบัลลังก์ของราชวงศ์วาลาเชียไม่จำเป็นต้องสืบสายเลือดจากพ่อสู่ลูก แต่มาจากการเลือกตั้งโดยเหล่าขุนนางผู้เป็นเจ้าของที่ดินตระกูลต่างๆ ดังนั้น จึงเกิดศึกชิงบัลลังก์และลอบสังหารบ่อยครั้ง ขณะที่ตระกูลบาซาราบนั้นแตกออกเป็นสองสาย คือสายเมียร์ซี และสายแดนเนสติ
ฝ่ายเจ้าชายแดร็กคิวลายึดบัลลังก์ได้ตั้งแต่ช่วงรุ่นพ่อ คือวล้าดที่ 1 ซึ่งเป็นนักรบที่มีชื่อเสียงโด่งดังจากการสู้รบที่ไม่กลัวชนเผ่าเติร์ก จนเหล่าขุนนางตั้งฉายาว่า "ดราคูล" หมายถึง"มังกร" และลูกคนที่ 2 ของวล้าดที่ 1 ได้ฉายาว่า "แดร็กคิวล่า" หมายถึง "บุตรของมังกร" ขณะที่ฝ่ายเยอรมัน แซ็กซอน อีกศัตรูของวล้าด เรียกว่า "บุตรของปีศาจ" สังหารทายาทในอีกสายตระกูลได้สำเร็จและขึ้นครองราชย์เป็นเจ้าชายวล้าดที่ 2
แดร็กคิวล่าผู้พ่อแต่งงานกับเจ้าหญิงแห่งมอลโดวา มีลูก 3 คน โดยแดร็กคิวล่าน้อยเป็นคนกลาง เกิดเมื่อปีค.ศ.1431 เติบโตมาเป็นนักรบที่เก่งกาจเช่นเดียวกับพ่อ
นับตั้งแต่ปีค.ศ.1444 ที่เติร์กกับฮังการีเปิดศึกรบพุ่งกันอย่างตึงเครียด ตระกูลของแดร็กคิวล่ากลายเป็นหมากของการถ่วงดุลอำนาจ ซึ่งมีแต่เสียเปรียบทุกด้าน ในวัย 13 แดร็กคิวล่าถูกส่งไปอยู่เอเดรียนโนเปิลนาน 4 ปีในฐานะตัวประกัน ท่ามกลางความโหดร้ายของสงครามที่ญาติพี่น้องถูกสังหาร แดร็กคิวล่าสะสมความกลัวและแค้นแปรเป็นความโหดแบบเลือดเย็น
ในปี 1456 หลังจากการชิงบัลลังก์และลอบฆ่ากันพัลวัน แดร็กคิวล่ากลับมาทวงบัลลังก์ได้อีก และครองวาลาเชียในนามวล้าดที่ 3 ตั้งเมืองหลวงชื่อทีร์โกวิสต์ สร้างปราสาทและรูปปั้นของตนเองไว้ในเมือง
นอกจากนโยบายปกครองแบบปิดประเทศ บวกกับรสนิยมส่วนตัวที่ชอบความรุนแรง ทำให้แดร็กคิวล่าบริหารความโหดของตนได้เต็มที่ มีเรื่องเล่าว่าเจ้าชายองค์นี้เชิญขอทาน คนแก่ และคนที่เจ็บป่วยเข้าวังแล้วตั้งคำถามว่า "ท่านอยากเป็นคนที่ถูกละเลยและทอดทิ้งหรือไม่" เมื่อชาวบ้านตอบว่า ไม่ แดร็กคิวล่าจึงเผาคนกลุ่มนี้ให้ตายทั้งเป็น ด้วยเหตุผลว่าจะได้ไม่มีคนจนและคนมีปัญหาในประเทศอีก
ว่ากันว่าในช่วงเวลาที่แดร็กคิวล่าครองเมืองจนถึงปี 1462 สังหารประชาชนที่ไร้ทางสู้ไปราว 40,000-100,000 คน ในจำนวนนี้หลายครั้งที่แดร็กคิวล่านั่งกินข้าวชมการประหารชีวิตแบบโหดๆ อย่างเพลิดเพลิน
ในปี 1476 ระหว่างที่ถูกทัพเติร์กโจมตี แดร็กคิวล่าเสียชีวิตที่บูคาเรสต์ เชื่อว่าผู้สังหารคือคนของแดร็กคิวล่าเอง กษัตริย์ของเติร์กสั่งให้ตัดศีรษะของแดร็กคิวล่าแขวนไว้ที่คอนสแตนติโนเปิล ส่วนร่างแยกไปฝังที่เกาะของตระกูลสนากอฟ ที่แดร็กคิวล่าเคยอุปถัมภ์ แต่ภายหลังที่มีการขุดค้นอุโมงค์ในปี 1931 กลับไม่พบโลงศพของแดร็วคิวล่า จึงทำให้เกิดเรื่องราวเล่าขานที่น่าสะพรึงกลัวยิ่งขึ้น
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น