วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2553

เรือหลวงจักรีนฤเบศร



เรือหลวงจักรีนฤเบศร เป็นเรือบรรทุกอากาศยานลำแรกและลำเดียวในขณะนี้ของราชนาวีไทยและอาเซียน ประจำการในส่วนกำลังรบของกองทัพเรือ เป็นเรือที่ต่อขึ้นจากประเทศสเปน ขึ้นระวางประจำการเมื่อ วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2540 ได้ใช้งานปฏิบัติภารกิจด้านยุทธการและช่วยเหลือภัยพิบัติตลอดน่านน้ำไทยทั้งฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน นอกจากนี้ยังเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมตามวันและเวลาที่กำหนดด้วย

เมื่อเกิดภัยพิบัติจากพายุเกย์บริเวณฝั่งทะเลอ่าวไทย จังหวัดชุมพร เมื่อปี พ.ศ. 2533 กองทัพเรือได้ใช้เรือและอากาศยานที่มีอยู่ทำการช่วยเหลือและค้นหาผู้ประสบภัย แต่นับว่ายังขาดเรือที่มีความทันสมัยและพิสัยทำการที่กว้างไกล กองทัพเรือจึงมีแนวคิดที่จะสร้างเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งสามารถนำมาใช้ปฏิบัติภาระต่างๆ เหล่านี้ได้ จึงได้ว่าจ้างบริษัท บาซาน เมืองเฟรรอล ประเทศสเปน เป็นเงิน 7,000 ล้านบาท

ทั้งนี้กองทัพเรือได้ขอพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้ทรงพระกรุณาฯ พระราชทานชื่อว่า เรือหลวงจักรีนฤเบศร

การช่วยเหลือผู้ประสบภัย นับเป็นภารกิจที่สำคัญในยามสงบของ ร.ล.จักรีนฤเบศร นับตั้งแต่ต่อเรือลำนี้ และได้เข้าประจำการในกองทัพเรือเมื่อปี พ.ศ.2540 ได้ออกปฏิบัติภารกิจค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเหตุการณ์ต่างๆ มาแล้วหลายครั้ง ได้แก่้ี้

พายุไต้ฝุนซีตาห์

เมื่อ 24 สิงหาคม พ.ศ.2540 ได้เกิดพายุไต้ฝุ่นซีตาห์ที่จังหวัดชุมพร ร.ล.จักรีนฤเบศร เป็นหน่วยกำลังแรกที่เข้าถึงพื้นที่ประสบภัย และได้ดำเนินการ ช่วยเหลือประชาชน ซึ่งติดอยู่ตามตำบลที่ต่างๆ โดยที่การช่วยหลือทางบกไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากระดับน้ำท่วมสูงจนไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ประสบภัยได้ การดำเนินการเบื้องต้น คือ การใช้เฮลิคอปเตอร์จากเรือ นำอาหารที่ประกอบเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งน้ำดื่มไปแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ติดอยู่ตามตำบลที่ต่างๆ การช่วยเหลือเบื้องต้น
ี้นี้จะทำให้ผู้ประสบภัยสามารถประทั้งชีวิตอยู่ได้ ในช่วงที่การช่วยเหลือจากหน่วยบก
ยังเข้าไปไม่ถึง
นอกจากนี้ยังได้ใช้ เฮลิคอปเตอร์จากเรือ ทำการลำเลียงผู้ป่วยจากตำบลที่ต่างๆไปยังโรงพยาบาลที่ยังเปิดให้บริการอยู่ รวมถึงการนำผู้ป่วย มารับการรักษาพยาบาลตามแหล่งชุมชนต่างๆอีกด้วย เมื่อสภาพน้ำท่วมลดลงการช่วยเหลือโดยทางบกสามารถดำเนินการได้ดีขึ้น ร.ล.จักรีนฤเบศร จึงได้้ถอนตัวออกจากพึ้นที่ประสบภัยพิบัติ และเดินทางกลับที่ตั้งปกติ

พายุไต้ฝุ่นลินดา
เมื่อวันที 4-7 พฤศจิกายน พ.ศ.2540 ร.ล.จักรีนฤเบศร ได้ออกเรือเพื่อให้การช่วยเหลือเรือประมงในทะเล ที่ประสบภัยจากพายุไต้ฝุ่นลินดา โดยลาดตระเวนจากสัตหีบไปยังเกาะกูดจังหวัดตราด จนถึง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

เหตุการณ์น้ำท่วม ที่จังหวัดสงขลา
กองทัพเรือได้สั่งการให้หน่วยต่างๆดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่จังหวัดสงขลา โดยกองทัพเรือกำหนดให้ ร.ล.จักรีนฤเบศร ออกเรือเพื่อปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 23-29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 ซึ่ง ร.ล.จักรีนฤเบศร ออกจากท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ ใน 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2543 และจอดเรือบริเวณ เกาะหนู จังหวัดสงขลา ในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2543 ร.ล.จักรีนฤเบศร ได้เริ่มปฏิบัติการการบินตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2543 และส่งชุดปฏิบัติการพิเศษพร้อมเรือยาง ลำเลียงเอาอาหารและสิ่งของจำเป็น ส่งถึงผู้ประสบภัย


เหตุการณ์ความไม่สงบในกรุงพนมเปญ
เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2546 เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในกรุงพนมเปญ และสถานเอกอัคราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญจนได้รับความเสียหาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้สั่งการให้ทุกเหล่าทัพเตรียมความพร้อมในการอพยพประชาชนชาวไทยในกัมพูชา ให้เดินทางกลับประเทศไทย โดยในเบื้องต้นรัฐบาลมอบหมายให้ กองทัพเรือจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกของสนามบินอู่ตะเภา เพื่อสนับสนุน การปฏิบัติการลำเลียงทางอากาศของ กองทัพอากาศ และให้กองทัพเรือจัดตั้ง หมู่เรือปฏิบัติการพิเศษ โดยมี พล.ร.ต.วัลวภ เกิดผล หน.ฝอ.ศปก.ทร./ผช.เสธ.ทร.ฝยก.เป็นผบ.หมู่เรือ ประกอบด้วย

โดยการปฏิบัติพิเศษนี้ เป็นการปฏิบัติภารกิจ สนับสนุนการอพยพ จนท.สถานเอกอัครราชทูตไทย และครอบครัว ตลอดจนประชาชนชาวไทยในกัมพูชา ให้เดินทางกลับประเทศไทยโดยปลอดภัย และเตรียมพร้อมปฏิบัติการบริเวณพื้นที่ด้านตะวันตกของเกาะกง นอกน่านน้ำอาณาเขตประเทศกัมพูชา

เหตุการณ์ธรณีพิบัติคลื่นสึนาม
จากเหตุการณ์ธรณีพิบัติ จนทำให้เกิดคลื่นยักษ์ Tsunami บริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน ในวันอาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2547 นั้น ผู้บัญชาการทหารเรือได้สั่งการให้ กองเรือยุทธการจัดตั้งหมู่เรือช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล (มชภ.) โดยมี พล.ร.ต.สุรศักดิ์ พุ่มพวง ผบ.กบฮ. เป็น ผบ.มชภ. มีกำลังพลรวมทั้งสิ้น 760 นาย ซึ่งประกอบด้วย ร.ล.จักรีนฤเบศร, ร.ล.นเรศวร, 3 ฮ.ปด.1 (S70B), 1 ชุด ชปพ.นสร. และชุดแพทย์เคลื่อนที่ โดยได้รับภารกิจ
- ค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย บริเวณเกาะต่างๆ และพื้นที่ทะเลด้านใต้ของเกาะภูเก็ต ทั้งหมด
- การเก็บกู้ศพและลำเลียงศพจากเกาะพีพีดอน
- การฟื้นฟูและพัฒนาสิ่งปลูกสร้าง โรงเรียน และสถานที่ราชการ
- การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั้งชาวไทยและต่างชาติ
- การให้การรักษาพยาบาล แก่กำลังพลของเรือและผู้ประสบภัย
- การให้การสนับสนุนและรับการตรวจเยี่ยมจากนายกรัฐมนตรีพร้อมคณะ และกองทัพเรือ

ทุกโมงยามที่ผ่านไป ทุกภาระกิจที่ได้รับมอบหมาย ทุกอุปสรรคภยันตรายที่รอคอยอยู่เบื้องหน้า ไม่ว่าภัยธรรมชาติจะร้ายแรงปานใด ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ใด แม้สุดเขตแดนไทยในมหาสมุทร เพื่อปกป้องเอกราชและอธิปไตยของชาติ เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของชาติที่เราหวงแหน เพื่อบรรเทาทุกข์ภัยให้กับพี่น้องชาวไทยทั้งมวล และเพื่อเกียรติศักดิ์ศรีของราชนาวีไทย พวกเราขอฝ่าฟันไป ครองเวหา ครองนที จักรีนฤเบศร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น