วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2553

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับเต่าทะเล

เต่าทะเลเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ ที่เคยมีหลักฐานพบว่าอาศัยอยู่ทั่วไปในสมัย ๑๓๐ ล้านปีก่อน นอกจากนั้นยังมีหลักฐานว่าเคยพบซากโบราณ (Fossil) ก่อนหน้านั้นไม่น้อยกว่า ๒๐๐ ล้านปี การแพร่กระจายของเต่าทะเลพบเฉพาะในเขตร้อนและเขตอบอุ่นเต่าทะเลจะขึ้นมาบนฝั่งเฉพาะเพศเมีย เพื่อวางไข่แพร่พันธุ์เท่านั้น เต่าทะเลทั่วโลกที่พบมีอยู่ ๗ ชนิด ได้แก่ เต่ามะเฟือง เต่ากระ เต่าตนุ เต่าตนุหลังแบน เต่าหัวฆ้อน เต่าหญ้า และเต่าหญ้าแอตแลนติก

ประเทศไทย มี ๔ ชนิดที่พบ คือ เต่าตนุ เต่ากระ เต่าหญ้า และเต่ามะเฟือง

เต่าทะเลในน่านน้ำไทยที่เคยพบและรายงานไว้มีทั้งหมด ๕ ชนิด จัดเป็น ๒ วงศ์ (Family)

วิธีการจำแนกชนิดของเต่าทะเล ใช้ลักษณะกระดอง จำนวนเกล็ดบนกระดอง และจำนวนเกล็ดระหว่างจะงอยปากกับตา


๑. วงศ์ CHELONIIDAE



เต่าตนุ ชื่ออังกฤษ GREEN TURTLE

ชื่อวิทยาศาสตร์ CHELONIA MYDAS

ลักษณะเด่น : เกล็ดบนส่วนหัวตอนหน้า ( Prefrontal Scale ) มีจำนวน ๑ คู่ เกล็ดบนกระดองแถวข้าง ( Costal Scale ) จำนวน ๔ เกล็ด ลักษณะขอบของเกล็ดจะเชื่อมต่อกัน ไม่ซ้อนกัน สีสันและลวดลายสวยงาม โดยมีกระดองสีน้ำตาลอมเหลือง มีลายริ้วสีจางกว่ากระจายจากส่วนกลางเกล็ด มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า เต่าแสงอาทิตย์

ขนาด : โตเต็มที่ความยาวกระดอง ประมาณ ๑๕๐ เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ ๒๐๐ กิโลกรัม ขนาดโตถึงแพร่พันธุ์ ความยาวประมาณ ๘๐ เซนติเมตร

อาหาร : เต่าตนุเป็นเต่าชนิดเดียวที่กินพืชเป็นอาหาร เมื่อพ้นวัยอ่อนแล้ว อาหารหลัก ได้แก่ พวกหญ้าทะเล และสาหร่ายชนิดต่าง ๆ เต่าตนุในวัยอ่อนจะกินทั้งพืชและเนื้อสัตว์เป็นอาหาร

แหล่งที่พบ : แหล่งวางไข่เต่าตนุในอ่าวไทย พบที่เกาะคราม จ.ชลบุรี และพบประปรายทางฝั่งอันดามัน ทางชายทะเลตะวันตกของ จ.พังงา และ จ.ภูเก็ต รวมทั้งบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน




เต่ากระ ชื่ออังกฤษ HAWKSBILL TURTLE

ชื่อวิทยาศาสตร์ ERETMOCHELYS IMBRICATA

ลักษณะเด่น : จะงอยปากค่อนข้างแหลมงุ้มคล้ายปากเหยี่ยว เกล็ดบนส่วนหัวตอนหน้า มี ๒ คู่ เกล็ดบนกระดองแถวข้างมี จำนวน ๔ เกล็ด ลักษณะเด่นชัด คือเกล็ดบนกระดองมีลวดลายริ้วสีสวยงาม และลักษณะของเกล็ดซ้อนกันเห็นได้ชัด ลักษณะค่อนข้างคล้ายเต่าตนุ

ขนาด : โตเต็มที่ยาวประมาณ ๑๐๐ เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ ๑๒๐ กิโลกรัม ขนาดโตถึงขั้นแพร่พันธุ์ได้ประมาณ ๗๐ เซนติเมตร

อาหาร : เต่ากระอาศัยอยู่ตามแนวปะการัง โดยเฉพาะเมื่อขนาดเล็ก จะอาศัยตาม ชายหาดน้ำตื้น กินสัตว์จำพวกฟองน้ำ หอย และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังชนิดต่าง ๆ เป็นอาหาร

แหล่งที่พบ : แหล่งวางไข่เต่ากระในอ่าวไทย พบที่ เกาะคราม จ.ชลบุรี และพบกระจัดกระจายตามหมู่เกาะต่าง ๆ ทางทะเลอันดามัน รวมทั้งแนวหาดทราย จ.พังงา และ จ.ภูเก็ต



เต่าหญ้า ชื่ออังกฤษ OLIVE RIDLEY TURTLE

ชื่อวิทยาศาสตร์ LEPIDOCHELYS OLIVACEA

ลักษณะเด่น : กระดองเรียบ สีเทาอมเขียว สีสันของกระดองไม่สวยงามเท่า เต่ากระและเต่าตนุ ส่วนหัวค่อนข้างโต จะงอยปากมนกว่าเต่าตนุ ที่แตกต่างกันชัดเจน คือ เกล็ดบนส่วนหัวตอนหน้า มีจำนวน ๒ คู่ และเกล็ดบนกระดองแถวข้างมีจำนวน ๖ - ๘ แผ่น ในขณะที่เต่าตนุและเต่ากระมีเพียง ๕ แผ่น และลักษณะพิเศษของเต่าหญ้า คือกระดองส่วนท้องแถวกลาง ( Inframarginal Scale ) มีรูสำหรับขับถ่าย หรือรูเปิดสำหรับประสาทรับความรู้สึก (ยังไม่ทราบระบบการทำงานที่ชัดเจน) จำนวน ๕ คู่

ขนาด : เต่าหญ้าเป็นเต่าทะเลที่มีขนาดเล็กที่สุดในจำพวกเต่าทะเล ขนาดโตเต็มที่ประมาณ ๗๕ – ๘๐ เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ ๘๐ กิโลกรัม ขนาดโตเต็มที่สามารถแพร่พันธุ์ได้ความยาวกระดองประมาณ ๖๐ เซนติเมตร

อาหาร : เต่าหญ้ากินพวก หอย ปู ปลา และกุ้งเป็นอาหาร จึงอาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเลทั่วไป มีจะงอยปากใหญ่คมและแข็งแรง สำหรับกัดหอยที่มีเปลือกเป็นอาหาร

แหล่งวางไข่ : พบมากทางฝั่งทะเลอันดามัน ตามหาดทรายฝั่งตะวันตกของ จ.ภูเก็ต พังงา และหมู่เกาะในทะเลอันดามัน ไม่พบเต่าหญ้าขึ้นวางไข่ฝั่งอ่าวไทย



เต่าหัวฆ้อน ชื่ออังกฤษ LOGGERHEAD TURTLE

ชื่อวิทยาศาสตร์ CARETTA CARETTA
ลักษณะเด่น : ลักษณะเด่นทั่ว ๆ ไปคล้ายเต่าหญ้าและเต่าตนุมาก ต่างกันที่เกล็ดบน ส่วนหัวตอนหน้ามี จำนวน ๒ คู่ เท่ากับเต่าหญ้า แต่เกล็ดบนกระดองหลังแถวข้างมีจำนวน ๕ แผ่นซึ่งต่างจากเต่าทะเลชนิดอื่น ๆ และรูปทรงของกระดองจะเรียวเล็กลงมาทางส่วนท้าย

อาหาร : กินอาหารจำพวก หอย หอยฝาเดียว และปู เป็นอาหาร

แหล่งวางไข่ : ปัจจุบันไม่มีรายงานการพบเต่าหัวฆ้อนขึ้นวางไข่ ในแหล่งวางไข่เต่าทะเลของไทยอีกเลยตลอดระยะเวลา ๒๐ ปีที่ผ่านมา ซึ่งเข้าใจว่าคงจะสูญพันธุ์ไปจากน่านน้ำไทยแล้ว

๒.วงศ์ DERMOCHELYIDE



เต่ามะเฟือง ชื่ออังกฤษ LEATHERBACK TURTLE

ชื่อวิทยาศาสตร์ DERMOCHELYS CORIACEA

ลักษณะเด่น : เต่ามะเฟืองแตกต่างจากเต่าทะเลชนิดอื่นอย่างชัดเจน ตรงที่มีขนาดใหญ่มากนอกจากนั้นกระดองไม่เป็นเกล็ด มีลักษณะเป็นแผ่นหนังหนามีสีดำ อาจมีสีขาวแต้มประทั่วตัว กระดองเป็นสันนูนตามแนวความยาวจากส่วนหัวถึงส่วนท้าย จำนวน ๗ สัน ไม่มีเกล็ดปกคลุมส่วนหัว จะงอยปากบนมีลักษณะเป็นหยัก ๓ หยัก

ขนาด : ขนาดโตเต็มที่มีความยาวกระดอง ประมาณ ๒๕๐ ซม. น้ำหนักกว่า ๑,๐๐๐ กก. ขนาดที่พบขึ้นมาวางไข่ไม่ต่ำกว่า ๑๕๐ ซม.

อาหาร : เต่ามะเฟืองอาศัยอยู่ในทะเลเปิด กินอาหารจำพวกพืชและสัตว์ที่ล่องลอยตามน้ำ โดยอาหารหลักได้แก่ แมงกะพรุน

แหล่งวางไข่ : เต่ามะเฟืองปัจจุบันมีจำนวนน้อยมาก พบขึ้นวางไข่บ้างบริเวณหาดทรายฝั่งอันดามัน จ.พังงา ภูเก็ต และหมู่เกาะต่าง ๆ ปัจจุบันไม่พบเต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่ในอ่าวไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น